วันใดที่มีการฝึกลูกเสือสำรอง จะทรงตื่นบรรทมเช้ากว่าปกติ เตรียมฉลององค์ลูกเสือด้วยพระองค์เอง สิ่งแรกที่จะทรงทำหลังจากตื่นบรรทมก็คือ ขัดหัวเข็มขัดและรองพระบาทสำหรับเครื่องแบบลูกเสือ ทำความสะอาดพระนขา (เล็บ) เตรียมพร้อมสำหรับรับการตรวจอยู่ตลอดเวลา

เนื่องในวโรกาส สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร พระราชโอรสใน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ซึ่งนับเป็นวโรกาสอันสำคัญยิ่งของประเทศไทยและปวงชนชาวไทยทุกหมู่เหล่า ทาง “เดลินิวส์” ให้ความสำคัญต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างสูงสุด ได้น้อมนำอัญเชิญพระราชประวัติแห่งพระองค์ท่าน ที่ได้มีการบันทึกไว้ในเอกสารสำคัญของหลาย ๆ ส่วน มานำเสนอต่อประชาชนคนไทย โดยนอกจากส่วนที่ได้นำเสนอโดยสรุปไปแล้ว ยังจะมีการน้อมนำอัญเชิญพระราชประวัติแห่งพระองค์ท่านมานำเสนอในรายละเอียดอย่างต่อเนื่องด้วย

ทรงศึกษาที่ “โรงเรียนจิตรลดา”

     สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ภายหลังพระราชสมภพ เมื่อวันจันทร์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2495 เมื่อครั้งทรงพระเยาว์ ประชาชนคนไทยทั้งหลายต่างตื่นเต้นและใคร่ที่จะทราบว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 จะทรงดำเนินเรื่องการศึกษาของ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร อย่างไร จะทรงโปรดฯ ให้ทรงศึกษาในโรงเรียนใด หรือจะทรงโปรดฯ ให้มีพระอาจารย์เข้าไปถวายพระอักษรในพระราชวัง หรือหากทรงโปรดฯ ให้ทรงศึกษานอกพระราชวัง โรงเรียนใดจะได้รับพระราชทานความไว้วางพระราชหฤทัยให้ถวายพระอักษร หรือหากทรงโปรดฯ ให้ทรงศึกษาในพระราชวัง ใครจะได้รับเลือกเป็นพระอาจารย์ ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระราชดำริถึงเรื่องสำคัญนี้อย่างรอบคอบ

จากข้อมูลในหนังสือเฉลิมพระเกียรติ ที่กองทัพบกได้จัดพิมพ์เนื่องในการจัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ พันตรี สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฏราชกุมาร เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพ วันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2523 ได้บันทึกเรื่องนี้ไว้ ความตอนหนึ่งว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงตระหนักดีถึงความรู้สึกของประชาชนทั้งหลายที่ห่วงใย ทรงมีพระราชดำริว่า สมัยนี้เป็นสมัยประชาธิปไตย จึงทรงมีพระราชประสงค์ที่จะให้พระราชโอรสทรงดำเนินชีวิตเช่นเดียวกับเด็กสามัญ แต่หากจะให้เสด็จฯ ไปทรงศึกษาในโรงเรียนหนึ่งโรงเรียนใด ครูอาจารย์ที่ถวายพระอักษรอาจจะเกรง ไม่กล้าดำเนินการใด ๆ เวลาพระราชโอรสของพระองค์ทรงกระทำผิด จึงทรงตัดสินพระทัยสร้างโรงเรียนขึ้นในเขตพระราชฐาน เพื่อจะได้ทรงดูแลอย่างใกล้ชิดพระราชทานนามว่า “โรงเรียนจิตรลดา” หรือเรียกกันในสมัยต้น ๆ ว่า “โรงเรียนทูลกระหม่อม”

นักเรียนจิตรลดารุ่นที่ 2 “เลข 9”

     ตามข้อมูลประวัติโรงเรียนจิตรลดา ในเว็บไซต์โรงเรียนจิตรลดา ระบุไว้ว่า วันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2498 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการศึกษาในระดับอนุบาลขึ้น ณ พระที่นั่งอุดร ในพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต และต่อมา เมื่อ พ.ศ. 2500 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้เสด็จพระราชดำเนินมาประทับ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต จึงได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สร้างอาคารเรียนถาวรในบริเวณพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต และพระราชทานนามโรงเรียนว่า “โรงเรียนจิตรลดา”

     นักเรียนจิตรลดารุ่นที่ 1 คือ ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ทรงมีเลข 1 เป็นเลขประจำพระองค์ ต่อมาเมื่อสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณฯ ในขณะนั้น ทรงเจริญพระชนมายุพอจะทรงพระอักษรได้ จึงโปรดเกล้าฯ ให้เพิ่มชั้นอนุบาลอีกชั้นหนึ่ง และเพิ่มนักเรียนอีก 4 คน โดย สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงเป็นนักเรียนจิตรลดารุ่นที่ 2 ทรงมีเลข 9 เป็นเลขประจำพระองค์ และเริ่มทรงพระอักษรในชั้นอนุบาล 1 เมื่อวันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2499

ทรงเรียนได้ดี “ไม่มีสิทธิพิเศษ”

     เหตุการณ์ในช่วงนี้ ได้มีการบันทึกไว้ในหนังสือเฉลิมพระเกียรติที่กองทัพบกได้จัดทำขึ้น ความตอนหนึ่งว่า คุณหญิง ดร.ทัศนีย์ บุณยคุปต์ อาจารย์ใหญ่โรงเรียนจิตรลดา ได้เขียนถึงพระราโชบายของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เกี่ยวกับการศึกษาของ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ว่า ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เริ่มชั้นอนุบาล ทรงมีพระราชดำรัสโดยสังเขปว่า “พระอาจารย์ที่จะมาถวายพระอักษรต้องนึกว่าเป็นครู จะต้องไม่ถวายสิทธิพิเศษ ต้องมีความยุติธรรม ต้องหนักแน่น ขอให้ฝึกฝนและอบรมให้เด็กๆ เป็นนักเรียนที่มีระเบียบ มีการรับผิดชอบในหน้าที่ รู้จักทำตนให้ตรงต่อเวลา ฝึกให้มีสมาธิในการงาน รู้จักรักษาสมบัติส่วนตัวและส่วนรวม รู้จักเมตตาและนึกถึงผู้อื่น รู้จักทำตนให้เข้ากับส่วนรวม จึงมิได้จำกัดว่าจะต้องเป็นเฉพาะเชื้อพระวงศ์ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ชวนผู้ที่มีบุตรหลานวัยเดียวกันให้มาเรียนในชั้นที่จะเปิดใหม่ ถ้าจะแบ่งประเภทนักเรียนก็มีดังนี้ พระญาติ บุตรหลานของผู้ที่ทรงรู้จัก บุตรข้าราชการ บุตรหลานของมหาดเล็กและข้าหลวง”

     สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงเรียนได้ดีตลอดมาเป็นลำดับ และทรงมีพระนิสัยรักการผจญภัยเช่นเดียวกับเด็กชายในวัยเดียวกันกับพระองค์ ทรงโปรดการผจญภัยโลดโผนทุกชนิด โดยในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2504 ได้เสด็จฯ ไปฝึกทรงม้ากับพระยานเรนทราชา เจ้ากรมอัศวราชในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 จนทรงม้าได้คล่องแคล่ว

“วิชาลูกเสือ” วิชาที่ทรงโปรด

     ต่อมาในวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ.2504 เป็นวันที่โรงเรียนจิตรลดา ซึ่งเป็นโรงเรียนที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงจัดให้เป็นสถานทรงพระอักษรของพระราชโอรสพระราชธิดาทุกพระองค์ อยู่ในบริเวณพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต ได้ทำพิธีเปิดหน่วย “ลูกเสือสำรอง” โดยนายกองวิสุทธารมณ์ อธิบดีกรมพลศึกษา ในฐานะเลขาธิการสภากรรมการกลางจัดการลูกเสือแห่งชาติ เป็นประธานในพิธี ทั้งนี้ การได้เป็นลูกเสือสำรองเป็นความภาคภูมิใจและเป็นที่ใฝ่ฝันสำหรับเด็กชายที่เข้าสู่วัยเรียนทุกคนเช่นไร สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ในขณะนั้นก็ทรงรู้สึกเช่นนั้น โดยพระองค์ทรงเฝ้ารอเวลานี้มานานแล้ว พร้อมกับพระสหายในวัยเดียวกัน 

     หน่วยลูกเสือของโรงเรียนจิตรลดา แบ่งออกเป็น 2 หมู่ หรือ 2 ซิกซ์ เพราะขณะนั้นมีนักเรียนที่อยู่ในเกณฑ์เป็นลูกเสือสำรองได้เพียง 12 คน โดยหมู่หนึ่งแบ่งออกเป็น 6 คน หมู่แรกชื่อหมู่สีฟ้า และหมู่ที่สองชื่อหมู่สีน้ำเงิน ทรงเป็นหัวหน้าหมู่สีฟ้า ส่วนสีน้ำเงินนั้นหัวหน้า คือ สัณห์ ศรีวรรธนะ การเป็นหัวหน้าหมู่ลูกเสือสำรองนี้ โดยทั่วไปผู้บังคับบัญชาลูกเสือเป็นผู้เลือก แต่ในโรงเรียนจิตรลดานี้ได้เปิดโอกาสให้นักเรียนเลือกกันเอง หัวหน้าหมู่มีหน้าที่ดูแลและเก็บสิ่งของซึ่งเป็นของหมู่ให้เรียบร้อย เมื่อถึงเวลาฝึกก็นำออกมาแจกให้ลูกหมู่ เสร็จแล้วก็เก็บรวบรวมไปไว้ยังที่ให้เป็นระเบียบ ซึ่งทรงปฏิบัติหน้าที่นี้ได้โดยไม่ขาดตกบกพร่อง แม้จะทรงอิดเอื้อนบ้างในตอนแรก เพราะทรงยังไม่เข้าพระทัยในหน้าที่นี้ดี แต่เมื่อพระอาจารย์อธิบายถวาย ก็ทรงปฏิบัติตาม 

     พระองค์ทรงโปรดวิชาลูกเสือสำรองมาก เพราะนอกจากจะได้ทรงกระโดดโลดเต้นออกกำลังกายกลางแจ้งแล้ว ยังได้ทรงฟังนิทานสนุกๆ และได้ทรงร้องเพลงที่สนุกสนานอีกด้วย ทรงเป็นนักเรียนที่ช่างซักมากที่สุดในชั้น วันใดที่มีการฝึกลูกเสือสำรองจะทรงตื่นบรรทมเช้ากว่าปกติ เตรียมฉลององค์ลูกเสือด้วยพระองค์เอง สิ่งแรกที่จะทรงทำหลังจากตื่นบรรทมก็คือ ขัดหัวเข็มขัดและรองพระบาทสำหรับเครื่องแบบลูกเสือ ทำความสะอาดพระนขา (เล็บ) เตรียมพร้อมสำหรับรับการตรวจอยู่ตลอดเวลา

ทรงสวนสนาม “ไม่หวั่นแดด-ฝน”

     ในวันคล้ายวันสถาปนาคณะลูกเสือไทย เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2506 ในพิธีสวนสนามของลูกเสือ ณ กรีฑาสถานแห่งชาติ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นประธานครั้งแรก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ในขณะนั้น เสด็จฯ ไปทรงร่วมกิจกรรมกับลูกเสือโรงเรียนอื่นเป็นครั้งแรก ทรงร่วมในพิธีสวนสนามของลูกเสือ ซึ่งประชาชนคนไทยที่ทราบข่าวก่อนหน้า พากันเป็นห่วงเป็นใยพระองค์ท่านไปต่างๆ นานา ด้วยเกรงว่าพระองค์จะประชวรลง บางคนถึงกับกล่าวว่า “โถ ทูลกระหม่อมจะทรงทนแดดไหวหรือ ท่านจะเป็นลมไหมนะ” โดยความห่วงใยในพระองค์ของพสกนิกรไทยในเรื่องนี้ เมื่อทรงทราบก็ได้รับสั่งว่า “ต้องได้สิ ทำไมจึงดูถูกกันอย่างนี้นะ”

     ครั้นถึงวันสวนสนาม ก็ทรงปฏิบัติหน้าที่ของลูกเสือสำรองของโรงเรียนจิตรลดาได้เป็นอย่างดีเช่นเดียวกับลูกเสือคนอื่นๆ ในวันนั้น ทรงถือป้ายชื่อโรงเรียนผ่านพระที่นั่งด้วยพระอาการสง่า และทรงร่วมแสดงในนามหมู่ลูกเสือโรงเรียนจิตรลดาด้วย 

     สำหรับการที่ทรงมีความอดทน และรู้จักหน้าที่ของลูกเสือ เป็นที่ประจักษ์ชัดอีกครั้งหนึ่งในการซ้อมใหญ่สวนสนามในวันฉลองครบรอบวันกำเนิดลูกเสือไทย ในวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2508 โดยขณะนั้นทรงเป็นลูกเสือโทแล้ว วันนั้นที่กรีฑาสถานแห่งชาติฝนตกหนักอย่างลืมหูลืมตาไม่ขึ้น บรรดาผู้ควบคุมการฝึกซ้อมลงความเห็นว่าควรเชิญเสด็จเข้าประทับในชายคา เพราะอาจจะทำให้ประชวรหวัดได้ เจ้าหน้าที่ผู้ใหญ่คนหนึ่งวิ่งออกไปที่สนาม ทูลเชิญเสด็จเข้าประทับในชายคา ทรงมองหน้าผู้ทูลเชิญพร้อมกับสั่นพระเศียร และรับสั่งว่า “ทำไมจะต้องให้ฉันหลบเข้าไปด้วยล่ะใครๆ เขาตากฝนได้ฉันก็ตากได้เหมือนกัน ฉันแข็งแรงพอ”

ทรงทำอาหาร “เมนูฝีพระหัตถ์”

     ก่อนหน้านี้ เมื่อโรงเรียนจิตรลดาทำพิธีเข้าประจำกองลูกเสือสามัญ โดยสมทบกับหน่วยโรงเรียนวชิราวุธ เป็นกองลูกเสือสังกัด อ.31 เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2506 ทรงสอบได้เป็นลูกเสือโท เมื่อวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2508 ในวันนั้นได้เสด็จฯ ไปทรงสอบเดินทางไกล และประกอบอาหาร ที่ค่ายลูกเสือวชิราวุธ ต.บางพระ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ต้องเสด็จฯ ตั้งแต่เช้ามืด พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระราชดำรัสห้ามใครตามเสด็จนอกจากราชองครักษ์ซึ่งให้ตามเสด็จได้เพียงห่าง ๆ

     การเสด็จเข้าค่ายลูกเสือที่ค่ายวชิราวุธครั้งนั้น ทรงทำอาหารเอง ซึ่งที่ทรงโปรดทำที่สุดคือ “ข้าวสวยคลุกไข่ปั้นเป็นก้อนทอด” โดยทรงโปรดการทำครัวเท่ากับความช่างเสวย บางคราวทรงทำอาหารเองด้วยหม้อและเตาดินเผาเล็กๆ แล้วประทับเสวยอย่างเอร็ดอร่อยร่วมกับผู้ตามเสด็จ ทั้งนี้ ทรงศึกษาที่โรงเรียนจิตรลดาถึงมัธยมศึกษาปีที่ 1 จึงเสด็จฯ ไปทรงศึกษาต่อที่อังกฤษ

     ทั้งนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงมีพระปรีชาสามารถ และทรงมีความเข้มแข็งอดทน นับแต่ครั้งยังทรงพระเยาว์ ซึ่งในเวลาต่อมาพระองค์ท่านทรงสนพระทัยด้านวิชาการทหาร และทรงเข้าศึกษาวิชาการทางด้านนี้ในสถาบันชั้นนำ ทั้งในประเทศออสเตรเลีย ประเทศสหรัฐอเมริกา และในประเทศไทย ซึ่งพระองค์ท่านทรงได้รับการยกย่องในพระปรีชาสามารถในระดับสากล

ขอพระองค์ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน


ที่มา : กระทรวงศึกษาธิการ

Loading