ธงลูกเสือ​จังหวัด​ : ผืนเดิมเก็บอย่างไร ผืนใหม่ใช้อย่างไร

วันที่​ ๑​ กรกฎาคม​ ๒๕​๖​๕​ มีการ​พระราชทาน​ธง​คณะ​ลูกเสือ​แห่งชาติ​ ธง​ลูกเสือ​กรุงเทพ​มหานคร​ และ​ธง​ลูกเสือ​จังหวัด​ผืน​ใหม่​ แม้ว่า​จะ​เป็น​การ​พระราช​ทาน​นอกโอกาสปกติ ซึ่งตามธรรมเนียมของธงประจำหน่วยที่พระมหากษัตริย์​เป็น​ผู้​พระราชทาน​ ที่ปรากฏใ​น​พระราช​บัญญัติ​ธง​ พ.ศ.๒๕๒๒ ที่จะมีการพระราชทานธงใหม่เมื่อมีการเปลี่ยนแปลง​ลักษณะ​ของธง หรือเปลี่ยนแปลง​นามหน่วย หรือชำรุดเกิน​กว่าจะเชิญออกใช้ หรือยังไม่ได้รับพระราชทาน​

ทั้งนี้ เมื่อได้รับพระราชทาน​ธงผืนใหม่ เป็นอันว่าธงที่ได้รับพระราชทาน​มาแต่เดิมนั้นพ้นสมัย​การเชิญออกใช้แล้ว ดังนั้น ธงผืนเดิมควรเก็บรักษาไว้เป็นที่เคารพ และเกียรติประวัติ​ของจังหวัด โดยคลี่ออกจากถุงคลุมธง เพื่อป้องกันการชำรุดเสียหายของเนื้อผ้าจากการม้วนเก็บรักษาเป็นเวลานานก็ได้ อย่างไรก็ตาม เมื่อมีความจำเป็นที่จะต้องเคลื่อนย้ายธงผืนเดิม เช่นเปลี่ยนสถานที่เก็บรักษา ยังคงต้องใช้ระเบียบการเชิญธงตามปกติ เพียงแต่ไม่เชิญธงผืนเดิมออกใช้ในพิธีการใดๆ เท่านั้น

ส่วนธงผืนใหม่นั้น เมื่อได้รับพระราชทาน​มาแล้ว จะต้องเชิญกลับไปยังจังหวัดด้วยความเคารพ ตามระเบียบการเชิญธง คือมีหมู่เชิญ​ธง​ และกองลูกเสือ​เกียรติยศ​ ทั้งไม่นำธงเก็บในที่ไม่สมควร เช่น ไม่เก็บไว้ในที่เก็บของใต้ท้องรถ ในกรณีที่เขิญขึ้นรถคันเดียวกับที่ใช้เดินทาง ธงจะต้องขึ้นรถก่อน เมื่อถึงจุดหมายจะเชิญลงที่หลัง โดยมีกองลูกเสือ​เกียรติยศ​ตั้งรอรับ

การเก็บรักษา หากมีสถานที่ประจำอันเคยใช้เก็บรักษา​ธงลูกเสือ​จังหวัด​ผืน​เดิม ก็สามารถ​นำไปเก็บรักษาร่วมกันได้ หรือสถานที่อันเหมาะสม เช่น ห้องประดิษฐาน​พระพุทธ​นวราช​บพิตร​ ห้องเก็บรักษา​พระแสงราช​ศัสตรา​ ฯลฯ หรือเก็บไว้ที่โรงเรียน ซึ่งเป็นผู้รักษาธง และมีหน้าที่ประจำธงมาแต่เดิม โดยการเชิญธงไปเก็บรักษานั้น จะต้องปฏิบัติตาม​ระเบียบการจัดกองลูกเสือ​เกียรติยศ​ในการรับส่งธงด้วย

เมื่อเก็บรักษาปกติ ย่อมจะอยู่ในถุงคลุมเสมอ จะคลี่ธงออกก็ต่อเมื่ิอเชิญธงไปในพิธีของลูกเสือ เชิญ​ธงเข้าประจำในกองลูกเสือ​เกียรติยศ​ ซึ่งจัดสำหรับเชิญธงในพิธีการทางลูกเสือ หรือเป็นกองลูกเสือ​เกียรติยศ​รับเสด็จพระราชดำเนิน​ประมุข และองค์อุปถัมภ์​คณะ​ลูกเสือ​แห่งชาติ​ในการเสด็จพระราชดำเนิน​มาปฏิบัติ​พระราชกรณียกิจ​ พระกรณียกิจ​ในจังหวัด หรือพระราชพิธี​ รัฐพิธี​ หรือพิธีต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

นอกจากนี้ ห้ามดัดแปลงธง หรือส่วนประกอบของธงโดยพลการ เช่น การทาสีเสาธงเป็นสีอื่น การตัดทอนเสาธง การนำแถบสีธงชาติผูกที่ยอดเสา ฯลฯ เมื่อธงเกิดชำรุดจนไม่สามารถ หรือไม่สมควร​เชิญออกใช้ สำนักงาน​ลูกเสือ​จังหวัด​จะต้องมีหนังสือ​แจ้งให้สำนักงาน​ลูกเสือ​แห่งชาติ​ ดำเนินการขอรับพระราชทาน​ธงผืนใหม่แทนธงที่ชำรุดนั้น

ธงลูกเสือกรุงเทพมหานคร

ธงลูกเสือกรุงเทพมหานคร
(ซ้าย) พระราชทานเมื่อวันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๕๔
ปัจจุบันพ้นสมัยการเชิญออกใช้
(ขวา) พระราชทานเมื่อวันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๖๕
.
“ธงลูกเสือจังหวัด” มีกำหนดไว้ในพระราชบัญญัติลูกเสือ พ.ศ.๒๕๕๑ หมวด ๔ มาตรา ๕๐ ความว่า “ให้มีธงคณะลูกเสือแห่งชาติ และธงลูกเสือประจําจังหวัดโดยรับพระราชทานจากประมุขของคณะลูกเสือแห่งชาติ” และปรากฎในพระราชบัญญัติธง พ.ศ.๒๕๒๒ หมวด ๖ มาตรา ๓๙ เป็นหนึ่งในจำนวนธงที่ได้รับพระราชทานจากพระมหากษัตริย์ เช่นเดียวกันกับธงชัยเฉลิมพล ธงกองอาสารักษาดินแดน และธงกองอาสารักษาดินแดนจังหวัดอีกด้วย ดังนั้น การปฏิบัติต่อธงลูกเสือจังหวัด ซึ่งเป็นเครื่องหมายแทนพระองค์ประมุขของคณะลูกเสือแห่งชาติ และสถาบันอันควรเคารพ คือชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ จึงจะต้องเป็นไปด้วยความเคารพอย่างยิ่ง

พี่น้องลูกเสือ และทุกท่านได้พบเห็น หรือมีการเชิญธงลูกเสือจังหวัด ผ่านบริเวณที่พี่น้องลูกเสือ หรือท่านกำลังอยู่ในบริเวณนั้น โปรดหยุดยืนแสดงความเคารพธง ซึ่งเป็นหลักชัยในการทำประโยชน์ เป็นสิ่งแทนองค์พระประมุขของชาติและคณะลูกเสือไทย และเป็นที่ควรเคารพอย่างยิ่งของลูกเสือไทยทั้งมวล

ขอขอบคุณที่มา : ๑๐๐ ปีการลูกเสือไทย 100 years of Thai Scouting

Loading

Message us