งานชุมนุมผู้บังคับบัญชาลูกเสือ ( Gilwell Reunion )

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

งานชุมนุมผู้บังคับบัญชาลูกเสือ Gilwell Reunion เริ่มจัดครั้งแรกในเดือนกันยายน ปี ค.ศ. 1921 หลังการฝึกอบรมผู้กำกับลูกเสือสามัญ รุ่นแรก ที่กิลเวลล์ ปาร์ค ในเดือนกันยายน ปี ค.ศ. 1919 ผู้บังคับบัญชาลูกเสือที่สำเร็จการฝึกอบรมวิชาผู้กำกับลูกเสือ ขั้นวูดแบดจ์ที่กิลเวลล์ ปาร์ค หรือที่กิลเวลล์ ปาร์ค รับรอง จะได้รับสิทธิได้รับเกียรติให้เข้าเป็นสมาชิกของกลุ่มลูกเสือกิลเวลล์ ปาร์ค ที่ 1 (First Gilwell Park Group) สมาชิกของกลุ่มนี้ ตามระเบียบต้องเสียค่าบำรุงปีละ 1 ชิลลิง กลุ่มลุกเสือนี้ไม่เหมือนกลุ่มลูกเสืออื่น ๆ คือไม่มีกรรมการหรือกิจการอื่นใด นอกจากนัดหมายมาพบกันปีละครั้งที่กิลเวลล์ ปาร์คในสัปดาห์แรก หรือสัปดาห์ที่สองของเดือนกันยายน การนัดมาพบปะกันเช่นนี้เรียกว่า Gilwell Reunion ซึ่งต่อมานิยมจัดเพิ่มในงานชุมนุมลูกเสือ (Jamboree) ด้วย

ในปี ค.ศ. 1959 มีการฉลอง ครั้งที่ 40 โดยกลุ่มลูกเสือกิลเวลล์ ปาร์คที่ 1 นี้ ถือว่าลอร์ด เบเดน-โพเอลล์ เป็นผู้กำกับลูกเสือของกลุ่มตลอดกาล ในภาษาอังกฤษ ใช้คำว่า “ B.-P. is regarded as Group Scoutmaster in perpetuity”

กิลเวลล์ปาร์ค ( Gilwell Park ) ศูนย์ฝึกอบรมผู้บังคับบัญชาลูกเสือนานาชาติ

————————————

ในปี ค.ศ. 1919 นายเดอ บัวส์ แมคลาเรน (Mr. W.F. De. Bois Maclaren) เจ้าหน้าที่ลูกเสือในสก๊อตแลนด์ได้บริจาคที่ดินจำนวน 57 เอเคอร์ ให้เป็นสมบัติของคณะลูกเสืออังกฤษ เพื่อเป็นค่ายพักแรมของลูกเสือและใช้เป็น ศูนย์ฝึกผู้บังคับบัญชาลูกเสือ กิลเวลล์ปาร์ค ตั้งอยู่ที่เมืองชิงฟอร์ด (Chingford) ประเทศอังกฤษ อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของกรุงลอนดอน ห่างจากกรุงลอนดอนประมาณ 12 ไมล์ การเดินทางสะดวก ไปได้ทั้งรถส่วนตัว รถประจำทาง และรถไฟ ผ่านสถานีรถไฟที่ชิงฟอร์ด ที่อยู่ที่สามารถติดต่อทางไปรษณีย์ได้คือ

The Scout Association , The Gilwell Park Campsite , Chingford , London , E4 7 AW Tel. 0815241582 Chairity Registration No.306101

กิลเวลล์ ปาร์ค เริ่มดำเนินการฝึกอบรมผู้บังคับบัญชาลูกเสือเป็นครั้งแรก เมื่อ ค.ศ. 1919 ลอร์ดเบเดน-โพเอลล์ เป็นผู้วางแผนการฝึกอบรมด้วยตัวเองและลงมือให้การฝึกอบรมด้วย ร่วมกับผู้บังคับการค่ายที่กิลเวลล์ และเจ้าหน้าที่ลูกเสืออื่น ๆ เป็นผู้ช่วย ผู้ที่เคยดำรงตำแหน่งผู้บังคับการค่าย (Camp Chief) คนแรกคือนายฟรานซิส กิดนีย์ (Francis Gidney) ค.ศ. 1919-1923 ต่อมาคือ พันเอก เจ.เอส. วิลสัน (Col. J. S. Wilson) ค.ศ. 1923-1943 และ นายจอห์น เธอแมน (Mr. John Thurman) ค.ศ. 1943 -1961 ผู้บังคับบัญชาลูกเสือของประเทศต่าง ๆ ได้รับการฝึกที่กิลเวลล์ในเมื่อมีโอกาสตามที่ศูนย์ฝึกกิลเวลล์ ปาร์ค จัดขึ้น

ผู้บังคับบัญชาลูกเสือไทย ที่ได้ไปรับการฝึกอบรมที่กิลเวลล์ ปาร์คเป็นชุดแรกได้แก่ หลวงกวีจรรยาวิโรจน์ และ หลวงปราโมทย์ จรรยาวิภาษ (ปราโมทย์ จันทวิมล) ในปี พ.ศ. 2470 (ค.ศ. 1977) แต่ไม่ได้ดำเนินการขอเครื่องหมายวูดแบดจ์ แต่ประการใด เพียงแต่เขียนหนังสือเรื่องเกมลูกเสือ โดยหลวงกวี จรรยาวิโรจน์ (หนังสือมีอยู่ที่หอสมุดแห่งชาติ) ในปี พ.ศ. 2500 มีการประชุมสมัชชาลูกเสือโลก ครั้งที่ 16 ที่เมือง Cambridge มีผู้บังคับบัญชาลูกเสือไทยเข้ารับการฝึกอบรม 2 ชุด ก่อนและหลังการประชุมคือ นายสว่าง วิจักขณะ นายสมรรถไชย ศรีกฤกษ์ นายเชาวน์ ชวานิช และ นายเพทาย อมาตยกุล และ นายกมล พันธุ์มีเชาวน์ ต่อมาระหว่าง 11 – 16 กันยายน 2504 ท่านอาจารย์อภัย จันทวิมล และ อาจารย์กอง วิสุทธารมณ์ ได้เข้ารับการฝึกอบรม(Cub Wood Badge Course) ที่กิลเวลล์ ปาร์ค หลังจากทั้งสองท่านเข้ารับการฝึกอบรมวิชาผู้กำกับลูกเสือสามัญ ขั้นวูดแบดจ์ ( Scout Wood Badge Course ) ที่ค่ายลูกเสือวชิราวุธ จังหวัดชลบุรี ระหว่าง 6 – 13 เมษายน 2504 มาแล้ว ก่อนการประชุมสมัชชาลูกเสือ ครั้งที่ 18 ที่กรุงลิสบอน ประเทศปอร์ตุเกส โดย นายแพทย์แสง สุทธิพงศ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เข้าร่วมรับการฝึกอบรมด้วย ในปี หลังๆ. แล้วมีผู้บังคับบัญชาลูกเสือไทยได้ ทยอยไปเข้ารับการฝึกอบรมที่ กิลเวลล์ปาร์คอีกหลายท่าน อาทิเช่น อาจารย์สุมน สมสาร อาจารย์บุญส่ง เอี่ยมละออ นายสมมาต สังขพันธ์ นายกฤช กาญจนาภา นายสถาพร รัชตะทรัพย์ ฯลฯ นอกจากใช้ในการฝึกอบรมผู้บังคับบัญชาแล้ว กิลเวลล์ ปาร์คได้จัดไว้เป็นที่สำหรับให้ลูกเสือไปอยู่ค่ายพักแรม

ค่ายลูกเสือที่กิลเวลล์ ปาร์ค

ส่วนหนึ่งของกิลเวลล์ ปาร์คได้จัดไว้เป็นที่สำหรับให้ลูกเสือไปอยู่ค่ายพักแรม บริเวณนี้ดูเหมือนจะสนุกและน่าสนใจที่สุด ลูกเสือที่ไปอยู่ค่ายพักแรมส่วนใหญ่ไปจากลอนดอน แต่ลูกเสือต่างประเทศหลายประเทศที่เคยไปพักแรมที่นี่ เช่น ลูกเสือจากฝรั่งเศส ฮอลแลนด์ สวีเดน ฟินแลนด์ นอร์เวย์ ชิลี ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา เป็นต้น

ลูกเสือที่มาพักแรมจะต้องเสียค่าธรรมเนียมอย่างประหยัด บริการที่จัดไว้ให้ คือ น้ำ ฟืน ห้องน้ำ ห้องส้วม และสระว่ายน้ำ นอจากนั้นก็มีร้านขายของซึ่งเรียกว่า Providore ในร้านนี้มีสิ่งของเครื่องใช้เกี่ยวกับลูกเสือ การ์ด แสตมป์ อาหารกระป๋อง น้ำอัดลม และไอสครีมสำหรับจำหน่ายด้วย กำไรทั้งหมดสะสมไว้เป็นเงินทุนสำหรับทะนุบำรุงค่ายลูกเสือแห่งนี้ ข้อที่แปลกก็คือ ปรากฏว่าลอร์ด เบเดน-โพเอลล์ ซึ่งมักเรียกกัน บ่อย ๆ ว่า บี.-พี. ได้เคยมาช่วยทำหน้าที่ผู้ขายของในร้านนี้ และเมื่อหลายปีก่อน สภานายกของคณะลูกเสืออังกฤษ ก็ได้มาแสดงฝีมือในการขายไอศกรีมที่ร้านขายของนี้ด้วย

ปรากฏว่าทุก ๆ ปี มีลูกเสือไปอยู่ค่ายพักแรมที่กิลเวลล์ ปาร์คเป็นจำนวนระหว่าง 12,000 – 15,000 คน หรือคิดถัวเฉลี่ยประมาณวันละ 30 – 40 คน โดยปกติในระหว่างวันจันทร์ถึงวันศุกร์ จะมีเต็นท์ลูกเสือเป็นหย่อม ๆ เพียง 2 – 3 เต็นท์ แต่พอถึงบ่ายวันเสาร์บริเวณค่ายพักแรมก็จะกลายเป็น เมืองผ้าใบ มีเต็นท์ลูกเสือเกิดขึ้น คล้ายกับเนรมิต บางสัปดาห์จะมีลูกเสือไปพักแรมที่กิลเวลล์กว่า 1,000 คน เต็นท์ลูกเสือเหล่านี้มีขนาดและรูปร่างต่าง ๆ กัน ของใคร ๆ เอาไปและสีของผ้าเต็นท์ก็มีต่าง ๆ เช่น ขาว เขียว เหลือง และบางรายก็มีภาพเขียนเป็นรูปต่าง ๆ ที่ผ้าเต็นท์ด้วย ในตอนบ่าย ถ้าอากาศร้อน ลูกเสือจะไปแน่นกันที่สระว่ายน้ำ ส่วนร้านขายของมีการเปิดเป็นเวลา และเมื่อถึงกำหนดเปิดเมื่อใด จะมีลูกค้าไปรออยู่ ร้านขายของนี้จำหน่ายสิ่งของต่าง ๆ ในราคาถูก แต่ก็ทำกำไรได้มากทุกปี

ในตอนกลางคืนวันเสาร์เวลา 20.30 น. มีการตีระฆังสัญญาณเพื่อให้ลูกเสือไปชุมนุมพร้อมกันที่บริเวณการเล่นรอบกองไฟ ซึ่งจะมีการร้องเพลง และผลัดกันแสดงอย่างสนุกสนาน พอถึงเวลา 22.00 น. มีการร้องเพลงAuld Lang Syne สวดมนต์ แล้วก็แยกย้ายกันกลับไปค่ายของตน ในตอนนี้ บางคนก็แวะไปที่ร้ายขายของอีกรอบหนึ่งเพื่อไปซื้อของ ดื่มน้ำชา หรือกินไอศกรีม ไม่ช้าไม่นานตามเต็นท์ต่าง ๆ จะมีแสงไฟเหมือนกับหมู่บ้านน้อย ๆ แต่แล้วเสียงก็จะเบาบางลงในเมื่อลูกเสือเข้านอนพอถึงเวลา 23.00 น.จะมีการตีระฆังสัญญาณอีกครั้งหนึ่งและทุก ๆ อย่างก็จะเงียบลงทันที

ในตอนเช้าวันอาทิตย์ ลูกเสือหลายคนจะต้องรีบตื่นแต่เช้า เพื่อจัดทำอาหารเช้าเก็บของเพื่อเดินทางกลับบ้าน และทำความสะอาดค่าย ภายหลังอาหารเช้า มีการประชุม สวดมนต์ และมีการบรรยายเกี่ยวกับเรื่องลูกเสือใช้เวลารวมกันประมาณ 1 ชั่วโมง เวลา 11.00 น. มีการตรวจค่าย ค่ายใดยังไม่เรียบร้อย จะต้องจัดการให้เรียบร้อยเสียก่อน จึงจะได้รับอนุญาตให้กลับ ส่วนค่ายที่สะอาดเรียบร้อยจะได้รับประกาศนียบัตรเป็นรางวัล ลูกเสือกองใดได้รับประกาศนียบัตรเช่นนี้รวม 4 ฉบับ จะไปขอเปลี่ยนเอาธงสามเหลี่ยมชายธงของกิลเวลล์ได้หนึ่งธง

ข้อที่น่าสนใจเกี่ยวกับค่ายพักลูกเสือที่กิลเวลล์ ปาร์คยังมีอีกสองข้อ คือ ในประการแรกกิลเวลล์ถือหลักว่าลูกเสือที่มาอยู่ค่ายพักแรมจะต้องพึ่งตนเอง เอาเต็นท์ ผ้าห่มนอนและเครื่องครัวของตนมาเอง และเมื่อมาถึงบริเวณค่ายพักก็จัดหาที่ของตนเอง และยกเต็นท์ขึ้นกางเองโดยไม่ต้องเอะอะหรือคอยอาศัยผู้อื่น กิลเวลล์ถือว่าการอยู่ค่าย พักแรมเช่นนี้เป็นการฝึกของลูกเสือส่วนหนึ่ง เจ้าหน้าที่ของกิลเวลล์จะทำเป็นประหนึ่งว่าทุกสิ่งทุกอย่างเป็นเรื่องของลูกเสือแต่ในทางปฏิบัติในตอนกลางคืน บางทีเจ้าหน้าที่ของกิลเวลล์จะไปตรวจตามค่าย และถ้าเห็นลูกเสือ คนใดมีผ้าห่มไม่พอก็อาจมีผ้าห่มอีกผืนหนึ่งไปถึงค่ายลูกเสือนั้นอย่างไม่มีพิธีรีตอง นอกจากนั้นในตอนเช้าบางทีเจ้าหน้าที่ของกิลเวลล์ก็ไปเยี่ยมตามค่าย และถามว่ามีอะไรกินเป็นอาหารเช้าบ้าง ถ้าปรากฏว่าลูกเสือคนใดขาดอาหาร บางทีก็มีอาหารไปถึงค่ายลูกเสือนั้นอย่างลึกลับลูกเสือทุกคนรู้ว่าใครเป็นผู้ช่วยเหลือเด็กที่น่าสงสารเหล่า

นั้นแต่เป็นธรรมเนียมของลูกเสือที่จะไม่พูดถึงเรื่องเหล่านี้

ข้อที่น่าสนใจเกี่ยวกับค่ายพักลูกเสือที่กิลเวลล์ ปาร์คอีกอย่างหนึ่งคือ โดยปรกติมักมีการขอแรงให้ช่วยทำงานอย่างหนึ่งอย่างใด เช่น ขุดลอกคู ทำลายวัชพืช หรือเผาสิ่งที่ไม่ต้องการ กล่าวโดยทั่วไปลูกเสือที่ไปอยู่ค่ายพักแรมที่กิลเวลล์เป็นลูกเสือชั้นดี และไม่ว่าทางการจะขอร้องให้ช่วยทำสิ่งใด จะมีผู้เต็มใจสมัครเข้าช่วยเหลือเสมอ ในเรื่องนี้กิลเวลล์ถือหลักว่าการทำงานโยธาเป็นการพักผ่อนที่ดีที่สุด ดังนั้นผู้กำกับลูกเสือที่ตั้งใจไปพักผ่อนที่บ้านพักในกิลเวลล์ ปาร์คบางทีก็พบว่ามีงานรอตนอยู่ เช่น ช่วยไสรถขนของ หรือช่วยเลื่อยไม้ เป็นต้น

บ้านพักสำหรับลูกเสือ

บ้านเบเดน-โพเอลล์ (B.-P. House) เป็นบ้านพักสำหรับลูกเสือ และเจ้าหน้าที่ลูกเสือ ตั้งอยู่ที่ตำบลเซาส์เคนชิงตัน ในกรุงลอนดอน ใกล้ ๆ กับสถานเอกอัครราชทูตไทย บ้านหลังนี้ สร้างขึ้นด้วยเงินเรี่ยไรเป็นส่วนใหญ่ ตัวอาคารเป็นตึก 7 ชั้น และมีชั้นใต้ดินอีกหนึ่งชั้นรวมเป็น 8 ชั้น ชั้นใต้ดินจัดเป็นโรงรถ ห้องเก็บของและห้องสำหรับเล่นเกมส์ต่าง ๆ พื้นล่างจัดเป็นที่สำหรับติดต่อมีร้านขายของเบ็ดเตล็ด (Providore) และมีพิพิธภัณฑ์เกี่ยวกับ ลอร์ด เบเดน-โพเอลล์ เช่น ไม้เท้าของบี.-พี. ซึ่งมีหลายสิบอัน รองเท้าของบี.-พี. เอกสารของ บี.-พี. หรือถ้าอยากฟังเสียงของ บี.-พี. ก็มีเครื่องสำหรับฟัง ฯลฯ ชั้นที่หนึ่ง จัดเป็นสำนักงานของผู้ดูแลซึ่งในภาษาอังกฤษเรียกว่า Warden มีห้องโทรศัพท์ ห้องประชุม มีที่นั่ง 330 ที่ และมีร้ายขายอาหารสำหรับ 100 คน ชั้นที่ 2 จัดเป็นห้องนั่งเล่น ห้องสมุด ห้องอ่านหนังสือ และเขียนหนังสือ ชั้นที่ 3 – 4 จัดเป็นห้องพักสำหรับลูกเสือและเจ้าหน้าที่ลูกเสือ มีเตียง 120 เตียง ชั้นที่ 5 – 6 เป็นที่พักของเจ้าหน้าที่ประจำบ้านเบเดน-โพเอลล์

ลอร์ด เบเดน-โพเอลล์ ถึงแก่กรรมเมื่อปี ค.ศ. 1941 ต่อมาในปี ค.ศ. 1942 ได้มีการจัดตั้งทุนที่ระลึกเบเดน-โพเอลล์ ในภาษาอังกฤษเรียกว่า Baden-Powell Memorial Fund วัตถุประสงค์ของทุนนี้ก็เพื่อจัดการรวบรวมเงินสำหรับสร้างบ้านพักสำหรับลูกเสือในกรุงลอนดอน ดังที่ บี.-พี. ได้เคยปรารภไว้ เพราะปรากฏว่าทุก ๆ ปีลูกเสือและเจ้าหน้าที่ลูกเสือผ่านกรุงลอนดอนเป็นจำนวนกว่า 15,000 คน และในจำนวนนี้หลายพันคนมาจากต่างประเทศ

ในวันที่ 17 ตุลาคม ค.ศ. 1959 โอลาฟ เลดี้ เบเดน-โพเอลล์ ภริยาลอร์ด เบเดน-โพเอลล์ ได้เป็นผู้วางศิลาฤกษ์อาคารหลังนี้ การก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยเมื่อเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1961 สิ้นเงินค่าก่อสร้างเกือบ 500,000 ปอนด์ (ประมาณ 30 ล้านบาท) สมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธ ได้ทรงประกอบพิธีเปิดอาคารหลังนี้เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน ค.ศ. 1961

ห้องพักสำหรับลูกเสือที่บ้านเบเดน-โพเอลล์ เป็นห้องใหญ่ มีเตียง 10 หรือ 12 เตียง ส่วนห้องพักสำหรับเจ้าหน้าที่ลูกเสือมีเตียง 3 หรือ 4 เตียง และมีห้องคู่สำหรับสามีภริยา

บ้านพักที่กิลเวลล์ ปาร์ค ผู้บังคับการค่าย Camp Chief มีบ้านพักโดยเฉพาะเรียกว่าThe Lodge อยู่ใกล้ ๆ กับสำนักงาน นอกจากนั้นก็มีบ้านสำหรับคนงานและเจ้าหน้าที่บางคน ส่วนอาจารย์ประจำศูนย์ฝึกวิชาลุกเสือที่ กิลเวลล์ โดยปกติมีบ้านพักอยู่ในเมืองชิงฟอร์ด และบางคนก็ขี่รถจักรยานมาทำงานที่กิลเวลล์

แต่โดยเหตุที่มีผู้ปรารถนามาพักที่กิลเวลล์เนือง ๆ เช่น เจ้าหน้าที่ลูกเสือชั้นผู้ตรวจการบางคนก็มาเยี่ยมลูกเสือของตนที่มาพักแรมที่กิลเวลล์ หรือบางทีก็มีการนัดหมายมาพบกันที่กิลเวลล์เพื่อปรึกษาหารือ หรือประชุมกันในเรื่องเกี่ยวกับลูกเสือ ผู้กำกับลูกเสือบางคนก็ต้องการมาพักผ่อนจากงานประจำของตน บางทีเมื่อสามีมาเข้ารับการฝึกอบรม ภริยาติดตามมาอยู่ที่บ้านพักในกิลเวลล์ปาร์คด้วย ทั้งนี้แม้จะมีโอกาสได้พบกับสามีเพียงเล็กน้อย นอกจากนั้นผู้ที่สนใจในการลูกเสือจากต่างประเทศก็นิยมไปพักที่กิลเวลล์เนือง ๆ เพื่อจะได้คอยสังเกตกิจกรรมเกี่ยวกับลูกเสือที่กิลเวลล์ซี่งมีอยู่เป็นประจำ

บ้านพักสำหรับเจ้าหน้าที่ลูกเสือและภริยาที่กิลเวลล์ ปาร์คมีสองแห่ง และจะเอาบุตรไปด้วยก็ได้แต่บุตรนั้นต้องมีอายุเกินกว่า 8 ปี บ้านพักส่วนหนึ่งจัดที่ชั้นบนของตึกอำนวยการมีห้องนอน 11 ห้อง อีกแห่งหนึ่ง เป็นตึกเอกเทศ อยู่ห่างจากตึกอำนวยการออกไป มีเนื้อที่ 10 เอเคอร์ (ราว 25 ไร่) ซื้อเป็นสมบัติของกิลเวลล์เมื่อ ค.ศ.1953 บริเวณนี้จัดเป็นทำนองโรงแรม และเรียกว่ากิลเวลล์เบอรี Gilwell-bury ซึ่งน่าจะเรียกเป็นภาษาไทยว่า กิลเวลล์บุรี เดินทางระหว่างตึกอำนวยการถึงตึกกิลเวลล์บุรี มีชื่อว่า ทางวิลสัน Wilson-way เพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้บังคับการค่ายคนที่สอง

ศูนย์ฝึกอบรมผู้บังคับบัญชาลูกเสือนานาชาติ Gilwell Park

เรื่องที่ทำให้กิลเวลล์ ปาร์คมีชื่อเสียงโด่งดังทั่วโลก ก็เนื่องด้วยคณะลูกเสืออังกฤษได้พยายามจัดให้กิลเวลล์ ปาร์คเป็นศูนย์ฝึกวิชาลูกเสือแห่งโลกและประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ยกเว้นประเทศคอมมิวนิสต์ ได้ยอมรับนับถือการฝึกอบรมวิชาผู้กำกับลูกเสือที่กิลเวลล์ หรือตามแบบของกิลเวลล์

ตามสถิติปรากฏว่า นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1945 ถึง ปัจจุบัน มีเจ้าหน้าที่และผู้กำกับลูกเสือจำนวน มากมาย ได้เข้ารับการฝึกที่กิลเวลล์ ในจำนวนนี้เป็นชาวต่างประเทศ และในประเทศ หรือแทบทุกประเทศยกเว้นประเทศคอมมิวนิสต์

หลักสูตรการฝึกวิชาลูกเสือที่กิลเวลล์มีมากมายหลายอย่างที่นับว่าสำคัญ และจดจำไว้เป็นเครื่องหมายแสดงความก้าวหน้าของกิลเวลล์คือ

ค.ศ. 1919 – การฝึกวิชาผู้กำกับลูกเสือรุ่นแรก

1st Scout Wood Badge Course

ค.ศ. 1921 – การฝึกวิชาผู้กำกับลูกเสือสำรองรุ่นแรก

1st Cub Wood Badge Course

ค.ศ. 1926 – การฝึกวิชาผู้กำกับลูกเสือวิสามัญ รุ่นแรก

1st Rover Scout Leader’s Course

ค.ศ. 1928 – การฝึกขั้นผู้ตรวจการรุ่นแรก

1st Commissioners Course

ค.ศ. 1949 – การฝึกวิชาผู้กำกับลูกเสือสำรอง รุ่นที่ 100

100th Cub Wood Badge Course

ค.ศ. 1951 – การฝึกวิชาผู้กำกับลูกเสือ รุ่นที่ 200

200th Scout Wood Badge Course

ค.ศ. 1956 – การฝึกขั้นผู้ฝึกผู้กำกับลูกเสือรุ่นแรก

“First Training the Team Course”

ค.ศ. 1958 – การฝึกวิชาผู้กำกับลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่ (อายุ 15-18 ปี) รุ่นแรก

First Senior Scout Wood Badge Course

นอกจากนี้ยังมีการฝึกวิชาลูกเสือในเรื่องอื่น ๆ อีก เช่น

(1) การฝึกวิชาเทคนิค Technical Courses สำหรับผู้ที่ผ่านการฝึกวิชาผู้กำกับ ขั้น Wood Badge มาแล้ว ได้แก่วิชาหัตถกรรม การแสดงละคร การสะกดรอย การพายเรือ และการพยากรณ์อากาศ เป็นต้น

(2) การฝึกเพื่อเป็นผู้นำในการเล่นรอบกองไฟ Camp Fire Leader’s Courses วิชานี้มีผู้นิยมมากและมักจัดในตอนปลายสัปดาห์

การฝึกอบรมวูดแบดจ์ Wood Badge Training คือ การฝึกวิชาผู้กำกับลูกเสือ ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 ประเภท ตามลักษณะของลูกเสือ ลูกเสือสำรอง Cub ลูกเสือ Scout ลูกเสือ สามัญรุ่นใหญ่ (อายุ 14-18 ปี) Senior Scout และ ลูกเสือวิสามัญ Rover การฝึกอบรมวิชาผู้กำกับลูกเสือทั้ง 4 ประเภท แตกต่างกันตามวัยของเด็กที่จะฝึกสอน ส่วนหลักการสำคัญ ๆ เหมือนกัน คือ ประกอบด้วย

(1) การฝึกเบื้องต้นPreliminary Training เป็นการให้ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับความมุ่งหมาย และระบบวิธีฝึกของการลูกเสือให้รู้จักโปรแกรมงานในหน้าที่ ตลอดจนเทคนิคและทักษะในการปฏิบัติงานบ้างเล็กน้อย

(2) วิชาวูดแบดจ์ ภาค 1 (ข้อเขียน) Wood Badge Course part I (Correspondence) สำหรับการศึกษาใน

ภาคนี้ ผู้สมัครจะต้องอ่านหนังสือเกี่ยวกับการลูกเสือตามประเภทของตน แล้วจะต้องตอบคำถามโดยเขียนตอบ ความมุ่งหมายก็เพื่อให้รู้จักการลูกเสือโดยทั่วไป และโดยเฉพาะประเภทของตนทั้งในทางปฏิบัติ ทางทฤษฎี และในทางความคิดเห็นส่วนตัว การกระทำในภาคนี้ไม่ใช่การสอบไล่ แต่เป็นการศึกษา คือมุ่งหมายให้ศึกษาจากตำรับตำราต่าง ๆ แล้วจึงเขียนตอบ และถ้าสามารถจัดให้มีกลุ่มอภิปรายหรือมีที่ปรึกษาได้ก็ยิ่งดี การศึกษาในภาคนี้จะกระทำก่อนและหลังภาคปฏิบัติ (ภาค 2)

(3) วิชาวูดแบดจ์ ภาค 2 (ภาคปฏิบัติ ) The Wood Badge Course Part II (Practical) สำหรับการศึกษา

ในภาคนี้ ผู้สมัครจะต้องไปอยู่ค่ายพักแรมตามเวลาที่กำหนดไว้ โดยให้มีโอกาสได้ศึกษาถึงหลักสำคัญของการลูกเสือ และได้รับความรู้ในทางเทคนิคบางประการสำหรับลูกเสือตามประเภทของตน วิชาผู้กำกับลูกเสือสำรอง Cub Course จะต้องมีเวลาศึกษาเป็นเวลา 25 ชั่วโมง โดยอยู่ในค่ายติดต่อกันอย่างน้อย 5 วัน หรืออยู่ค่ายเป็นคราว ๆ (เช่น ปลายสัปดาห์) แต่ละคราวมีเวลาไม่น้อยกว่า 26 ชั่วโมง

วิชาผู้กำกับลูกเสือสามัญ และวิชาผู้กำกับลูกเสือวิสามัญ( Scout and Rover Course) จะต้องมีเวลาศึกษาเป็นเวลา 28 ชั่วโมง โยอยู่ในค่ายติดต่อกันอย่างน้อย 8 วัน หรืออยู่ค่ายเป็นคราว ๆ (เช่น ปลายสัปดาห์) แต่ละคราวมีเวลาไม่น้อยกว่า 26 ชั่วโมง

(4) วิชาวูดแบดจ์ ภาค 3 (การนำเอาความรู้ไปใช้) The Wood Badge Course Part III (Application) ภายหลังที่ผ่านภาค 1 และภาค 2 แล้ว ผู้สมัครจะต้องนำเอาความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับจากการฝึกไปใช้ โดยมีผู้ที่ได้วูดแบดจ์แล้วเป็นคนติดตามไปดูการปฏิบัติงาน ซึ่งมีกำหนดเวลาอย่างน้อย 3 เดือน และอย่างมากไม่เกิน 6 เดือน

สำหรับการฝึกอบรมของท่านอาจารย์อภัย จันทวิมล ท่านอาจารย์กอง วิสุทธารมณ์ และนายแพทย์แสงสุทธิพงศ์ ที่กิลเวลล์ เป็นการฝึกอบรมวิชาผู้กำกับหรือวูดแบดจ์สำหรับลูกเสือสำรอง ภาค 2 นับเป็นรุ่นที่ 181 ของกิลเวลล์

เครื่องหมายของกิลเวลล์

ผู้ที่สำเร็จการศึกษาขั้นวูดแบดจ์ที่กิลเวลล์หรือในการฝึกที่กิลเวลล์รับรอง (ซึ่งจะจัดทำ ณ ที่หนึ่งที่ใดใน

โลกนี้ได้) จะมีสิทธิประดับเครื่องหมายของกิลเวลล์ ซึ่งประกอบด้วยของ 3 อย่าง คือ

(1) วอกเกิลแบบกิลเวลล์ The Gilwell Woggle เป็นห่วงสำหรับสวมผ้าผูกคอ ทำด้วยเชือกหนังกลมสองเส้นถักเป็นรูปกลมแป้น ๆ คล้ายผ้าโพกศีรษะของพวกแขกตุรกี (Turk’s head)ในสมัยโบราณ โดยเหตุนี้ จึงมักเรียกวอกเกิล นี้ว่า Turk’s head

(2) วูดแบดจ์Wood Badge คือ ไม้เล็ก ๆ สองท่อนร้อยด้วยเชือกหนังตามแบบสำหรับคล้องคอ

เวลาสวมเชือกหนังด้านหลังให้อยู่ใต้ผ้าผูกคอ ส่วนวูดแบดจ์ซึ่งอยู่ด้านหน้าให้วางทับผ้าผูกคอ

วูดแบดจ์นี้สร้างตามแบบสร้อยคอของหัวหน้าเผ่าอัฟริกันเผ่าหนึ่งชื่อ เดนิซูลู Deni-Zulu ซึ่งได้มอบให้เป็นสมบัติของ บี.-พี .เมื่อปี ค.ศ. 1888

ผู้ที่สำเร็จการฝึกอบรมผู้ให้การฝึกอบรมวิชาผู้กำกับลูกเสือ Training the Team Course มีสิทธิประดับเครื่องหมายวูดแบดจ์ประกอบด้วยไม้ 4 ท่อน

ผู้บังคับการค่ายที่กิลเวลล์ผู้เดียวมีสิทธิประดับวูดแบดจ์ประกอบด้วยไม้ 6 ท่อน ปรากฏว่าไม้ 6 ท่อนนี้เป็นส่วนหนึ่งของสร้อยคอดั้งเดิมที่เดนิซูลูให้แก่ บี.-พี. และ บี.-พี. ได้ให้แก่เซอร์เปอซี เอเวเรตต์ Sir Percy Everett ซึ่งได้ร่วมงานลูกเสือกับ บี.-พี. ตั้งแต่สมัยบราวน์ซีไอแลนด์ ในปี ค.ศ. 1907 ต่อมาเมื่อ ปี ค.ศ. 1949 เซอร์เปอซีได้มอบเครื่องหมายวูดแบดจ์ไม้ 6 ท่อนนี้แก่ จอห์น เธอร์แมน ผู้บังคับการค่ายกิลเวลล์ โดยมีเงื่อนไขว่าให้ใช้เป็นเครื่องหมายสำหรับตำแหน่ง Camp Chief ของกิลเวลล์ และเมื่อมีการเปลี่ยน Camp Chief ของกิลเวลล์เมื่อใดก็ให้มอบวูดแบดจ์ไม้ 6 ท่อน นี้แก่ Camp Chief คนต่อไป

(3) ผ้าผูกคอกิลเวลล์(The Gilwell Scarf) เป็นผ้าผูกคอสามเหลี่ยมสีเทา ข้างในเหลือบด้วยสีแดง ที่ชายผ้าพันคอสามเหลี่ยมด้านหลัง มีผ้าตราสก๊อตของตระกูลแมคลาเรน ขนาด 1 ½ x 2 ½ ปะตรงสามเหลี่ยม เพื่อเป็นที่ระลึกถึงนายแมคลาเรนที่ได้ซื้อกิลเวลล์ให้เป็นสมบัติของลูกเสือ

ได้มีการฉลอง Gilwell Reunion ครั้งที่ 40 ในปี ค.ศ. 1959 กลุ่มลูกเสือกิลเวลล์ ปาร์คที่ 1 นี้ ถือว่าลอร์ดเบเดน- โพเอลล์ เป็นผู้กำกับลูกเสือของกลุ่มตลอดกาล ในภาษาอังกฤษใช้คำว่า “B.-P.” is regarded as Group Scoutmaster in perpetuity”

เรื่องสุดท้าย เกี่ยวกับกิลเวลล์ ปาร์คที่สมควรนำมากล่าวคือ ในปี ค.ศ.1929 มีการชุมนุมลูกเสือแห่งโลก ที่ แอร์โรปาร์ค Arrowe Park เบอเกนเฮด ประเทศอังกฤษ ในการชุมนุมครั้งนั้นรัฐบาลได้ส่งนักเรียนไทยที่กำลังศึกษาอยู่ในประเทศอังกฤษไปเป็นผู้แทนรวม 9 คน มี นายนาค เทพหัสดิน ณ อยุธยา เป็นหัวหน้าคณะ ศาสตราจารย์แถบ นีละนิธิ เป็นรองหัวหน้าคณะ กับมี นายเกื้อม อิงควณิช ศาสตราจารย์รอง ศยามานนท์ นายสนั่น สุมิตร นายพร ศรีจามร นายเฉลียว ทองอุทัย นายศิระประภา บุญหลง และนายอภัย จันทวิมล ในการชุมนุมครั้งนั้น ผู้แทนลูกเสือประเทศต่าง ๆ รู้สึกตื่นเต้นกันมาก เมื่อทารบว่าพระเจ้ายอรซที่ 5 แห่งกรุงอังกฤษได้ทรงพระราชทานบรรดาศักดิ์ให้เซอร์โรเบิต เบเดน-โพเอลล์ เป็น บารอน เบเดน-โพเอลล์ แห่งกิลเวลล์ ตามธรรมเนียมของอังกฤษมีว่า ผู้ที่จะได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์อาจเลือกเอาว่าจะให้บรรดาศักดิ์ของตนเกี่ยวข้องกับสถานที่สำคัญแห่งใด บี.-พี .ต้องการใช้ชื่อกิลเวลล์ต่อท้ายบรรดาศักดิ์ และคณะกรรมการลูกเสือแห่งโลกก็เห็นชอบด้วย พระจ้ายอรซที่ 4 ทรงโปรดอนุมัติตามนั้น บี.-พี. จึงได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ชั้นบารอนเป็น Baron Baden-Powell of Gilwell คำว่า บารอนนี้โดยปกติไม่มีผู้ใดเรียกนอกจากจะใช้ในเอกสารสำคัญทางราชการ คำนำหน้าชื่อที่ใช้กันทั่วไปคือ ลอร์ด ดังนั้น จึงได้ยินบ่อย ๆ ว่า เมื่อกล่าวถึง บี.-พี. มักจะเรียกกันว่า ลอร์ด เบเดน-โพเอลล์ แห่งกิลเวลล์

หมายเหตุ ปัจจุบัน สำนักงานลูกเสือของอังกฤษ ได้ย้ายจาก B.-P. House ไปอยู่ที่ Gilwell Pack

———————————————

ขอขอบคุณแหล่งที่มา :
สมมาต สังขพันธ์
กรรมการผู้ทรงวุฒิของสภาลูกเสือไทย (2557 – 2560 )
ผู้ตรวจการลูกเสือ สังกัดสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ

Loading

Message us