แผนการพัฒนาลูกเสือไทย (พ.ศ.๒๕๖๗–๒๕๗๐)

แผนการพัฒนาลูกเสือไทย (พ.ศ. ๒๕๖๗–๒๕๗๐) ตามมติคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ ครั้งที่ ๒/๒๕๖๗ เมื่อวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ โดยสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ

ด้วย พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้มอบนโยบายการศึกษา “เรียนดี มีความสุข” การศึกษาเพื่อความเป็นเลิศ และการศึกษาเพื่อความมั่นคงของชีวิต ให้กับทุกส่วนราชการและทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ นำไปขับเคลื่อนงานด้านการศึกษาให้เกิดเป็นรูปธรรม โดยนโยบายประการหนึ่งที่มุ่งเน้น คือ เรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา (Anywhere Anytime)  “ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง” โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาผู้เรียนให้เป็นคนดี มีความสุข ผ่านการพัฒนางานลูกเสือเพื่อความมั่นคงของประเทศชาติ

ดังนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ จึงมีดำริส่งเสริมกิจกรรมลูกเสือตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการ และสอดคล้องกับยุคสมัย ทันการณ์ และนำไปใช้งานได้จริง เพื่อช่วยเหลือตนเอง ครอบครัวชุมชน และสังคม

การจัดทำแผนการพัฒนาลูกเสือไทย (พ.ศ. ๒๕๖๗ – ๒๕๗๐) เป็นการดำเนินการเพื่อพัฒนางานลูกเสือของประเทศ เพื่อเป็นทิศทางของสำนักงานลูกเสือแห่งชาติและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้สามารถนำแผนไปปฏิบัติได้บรรลุตามวิสัยทัศน์ พันธกิจ เป้าหมาย วิธีการ ยุทธศาสตร์ ที่กำหนด  มีการกำกับ เร่งรัดและติดตามประเมินผลการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน โดยมีรายละเอียดดังนี้

๑. ชื่อ แผนการพัฒนาลูกเสือไทย (พ.ศ. ๒๕๖๗ – ๒๕๗๐)

๒. วิสัยทัศน์ที่มุ่งสู่อนาคต  (Vision for Scout)

พัฒนางานลูกเสือของประเทศให้มีความทันสมัย และส่งเสริมให้เด็ก เยาวชน เป็นพลเมืองดี เพื่อความมั่นคงของประเทศชาติ   “เรียนดี มีความสุข”

๓. พันธกิจ (Mission)

๑. น้อมนำพระบรมราโชบายด้านการศึกษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สู่การปฏิบัติในงานลูกเสือให้เป็นรูปธรรมเกิดประโยชน์ต่อเด็กและเยาวชนของชาติ
๒. พัฒนาลูกเสือตามวัตถุประสงค์ของคณะลูกเสือแห่งชาติ เพื่อพัฒนาลูกเสือทั้งทางกาย สติปัญญาจิตใจ และศีลธรรม ให้เป็นพลเมืองดี มีความรับผิดชอบ และช่วยสร้างสรรค์สังคมให้เกิดความสามัคคีและมีความเจริญก้าวหน้า ทั้งนี้ เพื่อความสงบสุข และความมั่นคงของประเทศชาติ

๔. เป้าหมาย (Goal)

๔.๑ เด็กและเยาวชน มีพื้นฐานที่ดี ๔ ด้าน

๑) มีทัศนคติที่ถูกต้องต่อบ้านเมือง วัตถุประสงค์ เพื่อให้เด็กและเยาวชนมีความเข้าใจและศรัทธาใน ครอบครัว ชุมชน ศาสนา สถาบันพระมหากษัตริย์ ความเป็นไทยและวัฒนธรรมไทย
๒) มีพื้นฐานชีวิต (อุปนิสัย) ที่ดีและมั่นคง วัตถุประสงค์ เพื่อสร้างอุปนิสัยให้เด็กและเยาวชนไทยเป็นคนดี รู้จักแยกแยะสิ่งที่ดี-ชั่ว / ถูก-ผิด
๓) ทำงานเป็นและมีงานทำ วัตถุประสงค์  เพื่อสร้างอุปนิสัยรักงาน-ขยันขันแข็ง และพึ่งตนเองได้ให้แก่เด็กและเยาวชน
๔) เป็นพลเมืองดี วัตถุประสงค์  เพื่อฝึกฝนให้เด็กและเยาวชนไทยมีน้ำใจ รู้จักเสียสละเพื่อประโยชน์ส่วนรวม

๔.๒ เด็กและเยาวชนสามารถปฏิบัติตามคำปฏิญาณและกฎของลูกเสือ สามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในชีวิตประจำวันที่สอดคล้องกับบริบทของสังคม และเกิดประโยชน์ต่อผู้อื่นและสังคม

๑) ให้มีนิสัยในการสังเกต จดจำ เชื่อฟัง และพึ่งตนเอง
๒) ให้ซื่อสัตย์สุจริต มีระเบียบวินัยและเห็นอกเห็นใจผู้อื่น
๓) ให้รู้จักบำเพ็ญตนเพื่อสาธารณประโยชน์
๔) ให้รู้จักทำการฝีมือ และฝึกฝนให้ทำกิจการต่าง ๆ ตามความเหมาะสม
๕) ให้รู้จักรักษาและส่งเสริมจารีตประเพณี วัฒนธรรม และความมั่นคงของประเทศชาติ

๕. วิธีการ (Method)

“งานลูกเสือเพื่อลูกเสือและสังคม” (Scout  for scouts and community) โดยการขับเคลื่อนขบวนการลูกเสือ (scout movement) ให้เกิดพลัง ด้วยวิธีการลูกเสือ (Scout Method) ที่ปรับใช้ให้สอดคล้องกับบริบทของสังคมไทย (เช่น การลูกเสือสำหรับเด็ก (Scouting for Boys) คู่มือลูกเสือสำรอง (Wolf Cub’s Handbook) การท่องเที่ยวไปสู่ความสำเร็จ (Rovering to Success) และ Aids to Scoutmastership) เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ และทัศนคติที่ถูกต้องต่อขบวนการลูกเสือ รวมทั้งพัฒนาการลูกเสือให้สอดคล้องกับยุคสมัยและการเปลี่ยนแปลงของสังคม

ขบวนการลูกเสือ (scout movement)” หรือการลูกเสือ หมายถึง การร่วมกันของทุกภาคส่วนในสังคม เพื่อส่งเสริม สนับสนุน และสร้างสรรค์ให้เกิดพลังของเด็ก เยาวชน และคนหนุ่มสาว (empowerment) ให้มีอุปนิสัยติดตัว (Character) คือ ซื่อสัตย์ รับผิดชอบ มีน้ำใจ ด้วยวิธีการลูกเสือ (Scout Method) ซึ่งเป็นโปรแกรมการฝึกอบรมที่เพิ่มประสบการณ์การเรียนรู้ที่ตอบสนองความต้องการและความสนใจตามช่วงวัย มุ่งพัฒนา ฝึกฝน และบ่มเพาะให้เด็กเยาวชน มีความรู้ ทักษะ เจตคติ และคุณลักษณะที่ดี ก่อเกิดเป็นสมรรถนะที่นำไปใช้ประโยชน์ในชีวิตและการทำงานได้อย่างบูรณาการกัน โดยเน้นกิจกรรมกลางแจ้งที่สนุกสนาน สอดคล้องกับยุคสมัย ทันการณ์ และนำไปใช้งานได้จริง เพื่อช่วยเหลือตนเอง ครอบครัวชุมชน และสังคม

๖. ยุทธศาสตร์ (Strategic)

๖.๑ ยุทธศาสตร์ด้านส่งเสริมกิจการลูกเสือ (Scout Affairs) โดยส่งเสริม สนับสนุน กิจการลูกเสือให้สอดคล้องกับยุคสมัยและการเปลี่ยนแปลงของสังคม รักษาไว้ซึ่งอุดมการณ์ หลักการ วัตถุประสงค์ แนวทาง วิธีการ ธรรมเนียมปฏิบัติ พิธีการ และวิธีปฏิบัติที่ถูกต้อง เข้าใจง่าย เพื่อความมั่นคงและความเจริญรุ่งเรืองของขบวนการลูกเสือ ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศที่มุ่งสร้างสังคมที่เป็นสุข

ตัวชี้วัด (KPI)

  • ระดับความสำเร็จของการส่งเสริม สนับสนุน กิจการลูกเสือให้สอดคล้องกับยุคสมัย
  • จำนวนกฎหมายที่ได้แก้ไข ปรับปรุงและได้ประกาศใช้
  • จำนวนจัดประชุม ชุมนุม สัมมนาทางลูกเสือ
  • จำนวนกิจกรรมการสร้างความสัมพันธ์อันดีกับคณะลูกเสือนานาชาติและสำนักงานลูกเสือโลก
  • ระดับความสำเร็จของการมีส่วนร่วมทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน สมาคม สโมสร ชมรม
  • ระดับความสำเร็จของการจัดตั้งสถาบันการลูกเสือ (สถาบันวชิราวุธ) หรือโรงเรียนผู้นำลูกเสือ
  • ระดับความสำเร็จของการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ทางการลูกเสือ

กลยุทธ์ (Strategy)

๑) ปรับปรุงแก้ไขกฎหมายลูกเสือให้เป็นปัจจุบัน เร่งจัดทำกฎกระทรวง ข้อบังคับ ระเบียบที่ยังไม่บังคับใช้ รวมทั้งปรับปรุงข้อบังคับ ระเบียบ และแนวทางปฏิบัติ โดยต้องสามารถป้องกันมิให้เกิดการทุจริตต่าง ๆ ได้
๒) ปรับปรุง พัฒนา เครื่องแบบและเครื่องหมายประกอบเครื่องแบบลูกเสือให้ทันสมัย สอดคล้องกับบริบทปัจจุบัน
๓) ปรับปรุงหลักเกณฑ์ วิธีการ เกี่ยวกับการขอคุณวุฒิทางการลูกเสือ เหรียญลูกเสือ และการยกย่องเชิดชูเกียรติ ที่โปร่งใส เป็นธรรม และตรวจสอบได้
๔) ส่งเสริม สนับสนุน การชุมนุม ประชุม และสัมมนาทางการลูกเสือ อย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง
๕) ส่งเสริมและสนับสนุนบทบาทของลูกเสือไทยในเวทีโลก เร่งสร้างความสัมพันธ์อันดีกับคณะลูกเสือนานาชาติและสำนักงานลูกเสือโลก
๖) จัดให้มีสถาบันผู้นำทางการลูกเสือ (สถาบันวชิราวุธ) เพื่อหล่อหลอมผู้นำทางการลูกเสือ ถ่ายทอดองค์ความรู้ อุดมการณ์ และวิธีการที่ถูกต้อง
๗) จัดให้มีพิพิธภัณฑ์ทางการลูกเสือ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ รักษาและสืบทอดความภาคภูมิใจในประวัติศาสตร์และความเป็นมาของลูกเสือไทย
๘) ส่งเสริม สนับสนุนความร่วมมือทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน สมาคม สโมสร ชมรม

๖.๒ ยุทธศาสตร์ด้านพัฒนากิจกรรมลูกเสือ (Scout Activities)  โดยส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนากิจกรรมลูกเสือในทุกมิติและทุกภาคส่วน  โดยพัฒนาบุคลากรทางการลูกเสือให้มีสมรรถนะเป็นมืออาชีพ ส่งเสริมกิจกรรมลูกเสือเน้นกระบวนการฝึกฝน ฝึกอบรม ไม่ใช่กระบวนการเรียนการสอน เป็นโปรแกรมการจัดกิจกรรมที่จำเป็นสำหรับเด็กและเยาวชน ให้ได้กระทำหรือฝึกด้วยการปฏิบัติจริงที่ก้าวหน้า สอดคล้องกับยุคสมัย ทันการณ์ สนุกสนาน ดึงดูดใจ เกิดความภาคภูมิใจ เหมาะสมกับช่วงวัย รวมทั้งประโยชน์อันพึงจะได้รับจากการปฏิบัติหรือนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ตนเอง ครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศชาติ

ตัวชี้วัด (KPI)

  • จำนวนการจัดกิจกรรมลูกเสือและความพึงพอใจของผู้ที่เกี่ยวข้อง
  • ระดับความสำเร็จของบทบาทในการเป็นผู้นำเด็กและเยาวชนในจังหวัด
  • ระดับความสำเร็จของการนำวิธีการลูกเสือไปใช้ในชีวิตประจำวัน
  • ระดับความสำเร็จของการส่งเสริมสนับสนุนการประกวดกิจกรรมทางการลูกเสือ
  • ระดับความสำเร็จของการปรับปรุงกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน
  • จำนวนการฝึกอบรมลูกเสือ ผู้บังคับบัญชาลูกเสือ และเจ้าหน้าที่ลูกเสือ
  • ระดับความสำเร็จของการนิเทศแนะนำ ตรวจตรา ในการจัดกิจกรรมลูกเสือ

กลยุทธ์ (Strategy)

๑) สืบสานลูกเสือจิตอาสาพระราชทาน มุ่งประสานทำความดีด้วยหัวใจ

๒) ส่งเสริมสนับสนุนบทบาทของลูกเสือในการเป็นผู้นำเด็กและเยาวชนในจังหวัด โดยจัดตั้งสโมสรเยาวชนลูกเสือ (Scout Youth Club) มีที่ตั้งอยู่ค่ายลูกเสือจังหวัด และให้มีบุคลากรทางการลูกเสือเป็นที่ปรึกษา รวมทั้งส่งเสริมบทบาทการมีส่วนร่วมในกิจการลูกเสือในระดับประเทศและนานาชาติ

๓) ส่งเสริม สนับสนุน การจัดกิจกรรมลูกเสือทุกรูปแบบ สนับสนุนการใช้สื่อต่างๆ อย่างสร้างสรรค์ พัฒนางานลูกเสือให้มีนวัตกรรมและมีคุณภาพ สามารถเข้าถึงทุกกลุ่มเป้าหมายเพื่อสร้างการรับรู้ และสร้างทัศนคติเชิงบวก ความเข้าใจอันดีต่อการพัฒนาลูกเสือ เช่น ลูกเสือช่วยเหลือผู้อื่นทุกเมื่อ ทำดี ทำได้ ทำทันที

๔) ส่งเสริม สนับสนุนให้ทุกภาคส่วนเปิดพื้นที่แห่งการเรียนรู้เกี่ยวกับลูกเสือทั้งในสถานศึกษา ชุมชน และแหล่งเรียนรู้ต่างๆ โดยเชื่อมพลังของคนสามวัย คือ เยาวชนคนรุ่นใหม่ คนวัยทำงาน และผู้สูงอายุ ให้มาเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาลูกเสือ โดยจัดกระบวนการเรียนรู้ที่หลากหลายและเหมาะสมผ่านกิจกรรมลูกเสือ เอื้อแก่พ่อแม่ ผู้ปกครอง ครอบครัวให้มีส่วนร่วม ในการถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนประสบการณ์การเรียนรู้ร่วมกัน

๕) พัฒนาและปรับปรุงกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนในสถานศึกษาให้ทันสมัย โดยพัฒนาโปรแกรมการฝึกอบรมที่เพิ่มประสบการณ์การเรียนรู้ที่ตอบสนองความต้องการและความสนใจตามช่วงวัย บูรณาการกิจกรรมลูกเสือในกระบวนการเรียนรู้ในทุกกิจกรรม และสามารถนำไปใช้งานได้จริงในชีวิตประจำวัน

๖) ปรับปรุงและพัฒนามาตรฐานของหลักสูตรการฝึกอบรมลูกเสือและบุคลากรทางการลูกเสือ ให้ทันสมัย ปรับปรุงสื่อการเรียนการสอนและการฝึกอบรม คู่มือ และเอกสารให้ทันสมัย น่าสนใจ และสอดคล้องกับความต้องการของลูกเสือและบุคลากรทางการลูกเสือ ตลอดจนสนับสนุนและจัดให้มีการฝึกอบรมลูกเสือ ผู้บังคับบัญชาลูกเสือ และเจ้าหน้าที่ลูกเสืออย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ

๗) กำหนดแนวทางให้ผู้ตรวจการลูกเสือ ร่วมกับศึกษานิเทศก์ ให้เป็นผู้นิเทศ แนะนำ ตรวจตรา ในการจัดกิจกรรมลูกเสือและจัดกิจกรรมอื่นๆ ในระดับพื้นที่ ตลอดจนกำหนดแนวทางให้ผู้ตรวจการลูกเสือ อาสาสมัครลูกเสือ และเจ้าหน้าที่ลูกเสือ เป็นผู้ช่วยในการจัดกิจกรรม หรือกระบวนการเรียนรู้ ทั้งในสถานศึกษาและนอกสถานศึกษา

๘) จัดให้มีกองทุนพัฒนางานลูกเสือ เพื่อสนับสนุนการจัดกิจกรรมในรูปแบบต่างๆที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนากิจกรมลูกเสือ รวมทั้งการช่วยเหลือลูกเสือและบุคลากรทางการลูกเสือที่ประสบภัยจากการช่วยเหลือผู้อื่นตามคำปฏิญาณและกฏของลูกเสือ

๖.๓ ยุทธศาสตร์ด้านบริหารจัดการงานลูกเสือ (Scout Management)  โดยบริหารจัดการองค์กรที่ทันสมัย ที่มุ่งเน้นผลสัมฤทธิ์ตามภารกิจ  โดยสร้างวัฒนธรรมองค์กรการให้บริการที่ถูกต้อง รวดเร็ว ประโยชน์ ประหยัด นำเทคโนโลยีมาใช้ในการปฏิบัติงานให้เกิดประสิทธิภาพ สอดคล้องกับบริบทการเปลี่ยนแปลง รวมทั้งเปิดโอกาสและสร้างเครือข่ายการดำเนินงานจากทุกภาคส่วน

ตัวชี้วัด (KPI)

  • ระดับความสำเร็จของการพัฒนาองค์กร
  • จำนวนของการประชุมสภาลูกเสือไทย การประชุมกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ
  • ระดับความสำเร็จของการบริหารจัดการทรัพย์สิน การลงทุน และสิทธิประโยชน์
  • ระดับความสำเร็จของการพัฒนาแพลตฟอร์ม (Platform) การเรียนรู้ด้านลูกเสือที่สามารถศึกษาหาความรู้ และเรียนรู้ได้ทุกที่ ทุกเวลา
  • ระดับความสำเร็จของการพัฒนาค่ายลูกเสือวชิราวุธ ให้เป็น “Scout City เมืองแห่งลูกเสือ”
  • ระดับความสำเร็จของการพัฒนาค่ายลูกเสือให้ได้มาตรฐาน  

กลยุทธ์ (Strategy)

๑) ขับเคลื่อนแผนการพัฒนาลูกเสือไทย (พ.ศ. ๒๕๖๗ – ๒๕๗๐) สู่การปฏิบัติให้เกิดผลสัมฤทธิ์ในทุกภาคส่วน

๒) ปรับโครงสร้างและอัตรากำลังของสำนักงานลูกเสือแห่งชาติและสำนักงานลูกเสือจังหวัด ให้มีประสิทธิภาพ เหมาะสมและสอดคล้องกับบทบาท ภารกิจปัจจุบัน

๓) จัดระบบการจัดทำแผนงาน งบประมาณ ที่ต้องสามารถขับเคลื่อนงานในเชิงรุกได้ สร้างวัฒนธรรมการองค์กรที่เป็นมืออาชีพ มีจิตบริการ มีระบบการประเมินผลการปฏิบัติงานของบุคลากรที่เน้นผลสัมฤทธิ์ ตลอดจนการลงโทษทางวินัย กับผู้ที่กระทำผิดอย่างจริงจัง รวดเร็ว และเป็นธรรม

๔) พัฒนาการดำเนินงานกิจการลูกเสือในภูมิภาคให้เป็นเอกภาพ เน้นหลักการกระจายอำนาจ และการบูรณาการร่วมกันในระดับจังหวัดและเขตพื้นที่

๕) จัดระบบการบริหารจัดการทรัพย์สินและการลงทุนเพื่อประโยชน์ของสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ รวมทั้งกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในทรัพย์สินของคณะลูกเสือแห่งชาติให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อราชการและกิจการลูกเสือ

๖) จัดระบบเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ สินค้า ตราสัญลักษณ์ รวมทั้งเงินค่าบำรุงต่างๆ เพื่อสร้างรายได้ให้กับสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ

๗) จัดทำแพลตฟอร์ม (Platform) การเรียนรู้ด้านลูกเสือที่สามารถศึกษาหาความรู้ และเรียนรู้ได้ทุกที่ ทุกเวลา เน้นการสื่อสารประชาสัมพันธ์เชิงรุก การบริการแบบอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งพัฒนาระบบ Big Data เช่น จัดทำทะเบียนและสถิติต่าง ๆ เกี่ยวกับลูกเสือ ค่าบำรุง และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

๘) พัฒนาค่ายลูกเสือวชิราวุธ ให้เป็น “Scout City เมืองแห่งลูกเสือ” ยกระดับค่ายลูกเสือแห่งชาติทุกแห่งให้เป็นค่ายลูกเสือระดับภาคพื้นเอเชียแปซิฟิคและระดับโลก รวมทั้งจัดให้มีค่ายลูกเสือระดับชาติ ในทุกภูมิภาคของประเทศ โดยความร่วมมือกับทุกภาคส่วน 

๙) พัฒนาค่ายลูกเสือทั่วประเทศให้มีมาตรฐาน มีสภาพแวดล้อมเหมาะกับกิจกรรมกลางแจ้ง สะอาด ปลอดภัย (ห้องน้ำต้องสะอาด ปลอดภัย) และมีส่วนร่วมของชุมชน และเครือข่ายต่างๆ

กลไกการขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติ

๑. ระดับนโยบาย

  • สภาลูกเสือไทย วางนโยบาย และให้คำแนะนำในการปฏิบัติงานของคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ
  • คณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ องค์คณะที่ดำเนินการและบริหารกิจการลูกเสือตามวัตถุประสงค์ของคณะลูกเสือแห่งชาติและตามนโยบายของสภาลูกเสือไทย  มีบทบาทดังนี้
    – กำหนดนโยบาย
    – การควบคุม กำกับ กฎระเบียบ ข้อบังคับ
    – กำกับ ติดตาม ประเมินผล

๒. ระดับแปลงนโยบายไปสู่การปฏิบัติ

  • สำนักงานลูกเสือแห่งชาติ (สลช.) หน่วยงานในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการ ที่ดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของคณะลูกเสือแห่งชาติ ตามนโยบายของสภาลูกเสือไทย และคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ มีบทบาทดังนี้
    – บริหารจัดการ  แผน งบประมาณ ทรัพยากร
    – ขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติ
    – สนับสนุน กำกับ ติดตาม ประเมินผล

๓. ระดับปฎิบัติ

  • สำนักงานลูกเสือจังหวัด  มีบทบาทในการควบคุม ดูแล ส่งเสริม สนับสนุนกิจการลูกเสือในจังหวัดให้เป็นไปตามกฎหมาย ข้อบังคับ และระเบียบของทางราชการและคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ
  • สำนักงานลูกเสือเขตพื้นที่การศึกษา มีบทบาทในการควบคุม ดูแล ส่งเสริม สนับสนุนกิจการลูกเสือของลูกเสือเขตพื้นที่การศึกษา ให้เป็นไปตามกฎหมาย ข้อบังคับ และระเบียบของทางราชการและคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ
  • สถานศึกษา มีบทบาทในการส่งเสริมและจัดกิจกรรมลูกเสือในสถานศึกษา
  • หน่วยสนับสนุน  มีบทบาทในการส่งเสริมและจัดกิจกรรมลูกเสือนอกสถานศึกษา
  • สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด / คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด
  • หน่วยงานการศึกษา
  • ภาครัฐ ภาคเอกชน
  • ครอบครัว
  • ชุมชน
  • ประเพณี วัฒนธรรม ภูมิปัญญา
  • แหล่งเรียนรู้ ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม
  • ศาสนา
  • สมาคม สโมสร และภาคีเครือข่ายต่างๆ 

ที่มา : moe360.blog

Loading

Message us