สำนักงานลูกเสือแห่งชาติ เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบกิจการลูกเสือของชาติ มีฐานะเป็นนิติบุคคล อยู่ในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการ จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติลูกเสือ พ.ศ.2551 มีหน้าที่อำนาจ ดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของคณะลูกเสือแห่งชาติ และตามนโยบายของสภาลูกเสือไทย

สำหรับโครงสร้างการบริหารงานของ “คณะลูกเสือแห่งชาติ” พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขคณะลูกเสือแห่งชาติ ส่วน “สภาลูกเสือไทย” มีนายกรัฐมนตรี เป็นสภานายก และมี “คณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ” ซึ่งเป็นองค์กรบริหารของคณะลูกเสือแห่งชาติ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานกรรมการบริหาร และรองปลัดกระทรวงศึกษาธิการที่ได้รับมอบหมาย เป็นเลขาธิการสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ (ปัจจุบันคือ นายสุทิน แก้วพนา รองปลัดระทรวงศึกษาธิการ)

นอกจากนี้ ยังมี “ลูกเสือจังหวัด” ในแต่ละจังหวัด ให้จัดระเบียบการปกครองลูกเสือตามเขตจังหวัด โดยมี “คณะกรรมการลูกเสือจังหวัด” มีผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธานกรรมการ และ “คณะกรรมการลูกเสือเขตพื้นที่การศึกษา” มีผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา เป็นประธานกรรมการ

หน้าที่และอำนาจ ของสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ

        1.ดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของคณะลูกเสือแห่งชาติและตามนโยบายของสภาลูกเสือไทย
        2. ถือกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในทรัพย์สินของคณะลูกเสือแห่งชาติ หรือดำเนินการใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สิน
        3. ทำนิติกรรมสัญญาหรือข้อตกลงอื่น
        4. รับผิดชอบการดำเนินงานของคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ
        5. ควบคุมดูแลกิจการลูกเสือไทยให้เป็นไปตามกฎหมาย ข้อบังคับและระเบียบของทางราชการ และคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ รวมทั้งถูกต้องตามแบบธรรมเนียมของลูกเสือ
        6. จัดให้มีการฝึกอบรมหรือการชุมนุมลูกเสือ ผู้บังคับบัญชาลูกเสือและเจ้าหน้าที่ลูกเสือ
        7. จัดทำรายงานประจำปีพร้อมงบดุล เสนอคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ
        8. จัดให้มีทะเบียนและสถิติต่าง ๆ เกี่ยวกับลูกเสือ
        9. ประสานและส่งเสริมสำนักงานลูกเสือจังหวัดและสำนักงานลูกเสือเขตพื้นที่การศึกษา
       10. ปฏิบัติตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับและตามมติของคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ

สำนักการลูกเสือ ยุวกาชาดและกิจการนักเรียน เป็นหน่วยงานระดับสำนัก สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ มีหน้าที่และอำนาจตามกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2548 ข้อ 4 (4) ดังต่อไปนี้

  1. ส่งเสริมสนับสนุนและประสานกิจการลูกเสือและยุวกาชาด ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยลูกเสือ ข้อบังคับสภากาชาดไทย และนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ
  2. ส่งเสริม สนับสนุน ศึกษา วิเคราะห์ วิจัย เพื่อการพัฒนานักเรียน นักศึกษา โดยผ่านกระบวนการลูกเสือและยุวกาชาด
  3. ส่งเสริมการป้องกัน แก้ไขและคุ้มครองความประพฤตินักเรียน นักศึกษา
  4. ส่งเสริม สนับสนุนและประสานงานการดำเนินการเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิของนักเรียน นักศึกษา
  5. ปฏิบัติการร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือที่ได้รับมอบหมาย

สำหรับลูกเสือและเนตรนารีของนั้น ยึดถือตามแบบอังกฤษ มี 4 ประเภท คือ

1. ลูกเสือสำรอง เนตรนารีสำรอง
2. ลูกเสือสามัญ เนตรนารีสามัญ
3. ลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่ เนตรนารีสามัญรุ่นใหญ่
4. ลูกเสือวิสามัญ เนตรนารีวิสามัญ

แต่ที่พิเศษ ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในโลกที่มี “ลูกเสือชาวบ้าน”

ที่มา : https://moe360.blog/2023/06/01/thai-scout/

Loading