วัตถุประสงค์ของการลูกเสือ

การดำเนินงานเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ของการลูกเสือไทย โดย อสมมาต  สังขพันธ์

เราท่านทั้งหลายที่อาสาสมัครเข้ามาเป็นผู้บังคับบัญชาลูกเสือนี้  เคยถามตัวเองบ้างหรือไม่ว่าเราเข้ามาทำอะไร  เรามีหน้าที่อย่างไรในกิจการลูกเสือมีบางท่านคงตอบคำถามนี้ได้โดยไม่ลำบากใจนัก

หน้าที่หลักของท่านที่เป็นผู้กำกับลูกเสือ  เป็นผู้กำกับกลุ่มลูกเสือนั้น  คือ  การพัฒนาลูกเสือให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของคณะลูกเสือแห่งชาติ

หน้าที่หลักของท่านที่เป็นผู้ตรวจการ  และผู้อำนวยการลูกเสือนั้น  คือให้การสนับสนุนผู้กำกับลูกเสือและบริหารกิจการลูกเสือในเขตรับผิดชอบของแต่ละท่าน   เพื่อให้กิจการลูกเสือเดินไปสู่วัตถุประสงค์ของคณะลูกเสือแห่งชาติ

ท่านจำได้ไหมว่า   วัตถุประสงค์ของลุกเสือแห่งชาติมีว่าอย่างไร

ถ้าท่านตอบคำถามนี้ไม่ได้  ท่านจะพัฒนาหรือบริหารกิจการลูกเสือไปทางใด

จุดนี้เป็นจุดสำคัญที่สุด  สำหรับผู้บังคับบัญชาลูกเสือทุกคนท่านต้องจำได้ว่าวัตถุประสงค์ของคณะลูกเสือแห่งชาติมีว่าอย่างไร

วัตถุประสงค์ของคณะลูกเสือแห่งชาติ  พระราชบัญญัติลูกเสือ   พ.ศ.   ๒๕๕๑   มาตรา   ๘   กำหนดไว้ว่า

คณะลูกเสือแห่งชาติมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาลูกเสือทั้งทางกาย   สติปัญญา  จิตใจและศีลธรรมให้เป็นพลเมืองดี   มีความรับผิดชอบและช่วยสร้างสรรค์สังคมให้เกิดความสามัคคีและมีความเจริญก้าวหน้า  ทั้งนี้เพื่อความสงบสุขและความมั่นคงของประเทศชาติ  ตามแนวทางดังต่อไปนี้

๑.  ให้มีนิสัยในการสังเกต  จดจำ  เชื่อฟัง  และพึ่งตนเอง

๒.  ให้ซื่อสัตย์สุจริต  มีระเบียบวินัยและเห็นอกเห็นใจผู้อื่น

๓.  ให้รู้จักบำเพ็ญตนเพื่อสาธารณประโยชน์

๔.  ให้รู้จักทำการฝีมือ  และฝึกฝนให้ทำกิจการต่าง ๆ ตามความเหมาะสม

๕.  ให้รู้จักรักษาและส่งเสริมจารีตประเพณี  วัฒนธรรมและความมั่นคงของประเทศชาติ

มาตรา  ๙  ให้กระทรวงศึกษาธิการ  มีหน้าที่ส่งเสริมและสนับสนุนงานของคณะลูกเสือแห่งชาติ  เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของคณะลูกเสือแห่งชาติ   รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินการของสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ สำนักงานลูกเสือจังหวัด สำนักงานลูกเสือเขตพื้นที่การศึกษาสถานศึกษาที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การจัดกิจกรรมลูกเสือเป็นไปอย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ

ธรรมนูญขององค์การแห่งโลกว่าด้วยขบวนการลูกเสือ  (  The  World  Organization  of  the  Scout  Movement  )  ได้กำหนดวัตถุประสงค์ของขบวนการลูกเสือไว้ดังต่อไปนี้

จุดมุ่งประสงค์ของขบวนการลูกเสือ   คือการสนับสนุนการพัฒนาอย่างเต็มที่ซึ่งศักยภาพทางกาย   สติปัญญา   สังคม   จิตใจและศีลธรรมให้แก่เยาวชนเป็นรายบุคคล   เพื่อให้เขาเป็นพลเมืองดีมีความรับผิดชอบ   ในฐานะที่เป็นสมาชิกของชุมชนในท้องถิ่นในชาติและในชุมชนระหว่างนานาชาติ

หนังสือคู่มือการฝึกอบรมนานาชาติ  ( Internationl  Training  Handbook  )   ปี ค.ศ.  ๑๙๘๕  ซึ่ง  The  World  Training  Committee ได้จัดทำขึ้น  มีบทความอยู่บทหนึ่งให้ชื่อว่า  จะบรรลุถึงวัตถุประสงค์ของกิจการลูกเสือได้อย่างไร”  (  How  to  Achieve  the  purpose  of  Scouting   )  

                การที่จะบรรลุถึงวัตถุประสงค์ดังที่กำหนดไว้นี้   ดูเหมือนว่าจะเป็นปัญหาที่ยากมากถ้าเราพิจารณาถึงปัจจัย  และสิ่งต่างๆที่เข้ามามีส่วนในการที่จะชี้ว่า   ความเพียรพยายามของเราที่จะฝึกอบรมลูกเสือนั้นประสบผลสำเร็จ   หรือล้มเหลวอย่างไร  ไม่มีคำตอบสำเร็จรูปที่จัดทำไว้แล้วในเอกสารฉบับนี้

                แต่เราจะพยายามรวบรวมข้อความต่างๆที่เราเห็นว่าเป็นเงื่อนไขของความสำเร็จเป็นบัญชีขึ้นไว้   ถ้าได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขนี้ได้ครบถ้วนบริบูรณ์แล้ว   ก็หวังได้ว่าโอกาสที่จะประสบความสำเร็จนั้นอาจพึงหวังได้  แม้ว่าจะไม่มีการรับประกันก็ตาม   แต่ถ้าใครละทิ้งข้อเงื่อนไขที่ได้รวบรวมไว้นั้นไปเพียงข้อหนึ่งข้อใด  ความล้มเหลวในการพัฒนาลูกเสือให้ถึงวัตถุประสงค์ของคณะลูกเสือแห่งชาตินั้นอาจเกิดขึ้นได้   ข้อนี้เราเชื่อว่าเรารับประกันได้

                ในขบวนการลูกเสือไม่ว่าในระดับใดจะเป็นกองลูกเสือ  กลุ่มลูกเสือ  จังหวัด  หรือในคณะลูกเสือแห่งชาติหรือในองค์กรของโลกก็ตามที   เพื่อที่จะได้รับความสำเร็จ   คือบรรลุถึงวัตถุประสงค์ของกิจการลูกเสือเราต้องมีสิ่งต่างๆ ดังต่อไปนี้

ก. กำหนดการที่ดี  (  Good   Programme  )  สำหรับเยาวชนที่เป็นสมาชิก

ข. การฝึกอบรมที่ดีสำหรับผู้กำกับลูกเสือ  (   Good  Training   )

ค. อย่างสนับสนุนอย่างเพียงพอ   (   Good  Support   )

จะได้อธิบายหัวข้อทั้ง  ๓  นี้  ทีละข้อตามลำดับต่อไปนี้ดังนี้

กำหนดการที่ดี  (  Good   Programme  ) 

สอดคล้องกันตามความต้องการและความปรารถนาของเยาวชน

กิจการลูกเสือเป็นขบวนการทางการศึกษา   มุ่งประสงค์ที่จะช่วยเยาวชนให้พัฒนาศักยภาพต่างๆ กล่าวคือศักยภาพทางกาย , ทางสติปัญญา , ทางสังคม , ทางจิตใจ , และทางศีลธรรมของเขาเอง  กิจการลูกเสือจะทำการพัฒนาดังกล่าวนี้ได้   เมื่อกิจการลูกเสือได้จัดกิจกรรมต่างๆ ให้แก่เยาวชนให้สอดคล้องกับความต้องการ  และความปรารถนาของเยาวชน  ในลักษณะที่จะช่วยการพัฒนาทางกายสติปัญญา  สังคม  จิตใจ  และศีลธรรมของเยาวชน

ความต้องการเหล่านี้จะแตกต่างกันออกไปด้วยปัจจัยหลายประการ  เช่น

อายุของแต่ละบุคคล  ความต้องการของเด็กอายุ  ๘  ขวบ  ย่อมแตกต่างไปจากเด็กชายอายุ  ๑๓  ปี  และย่อมแตกต่างไปจากความต้องการของเยาวชนวัยรุ่นหนุ่มอายุ  ๑๙  และ  ๒๐  ปีด้วยขบวนการลูกเสือได้คำนึงถึงปัจจัยข้อนี้มาหลายปีมาแล้ว   จึงได้จำแนกลูกเสือออกเป็นประเภทต่างๆ คือ  สำรอง  สามัญ  สามัญรุ่นใหญ่  และวิสามัญแล้วก็พัฒนาเยาวชนไปตามประเภทนั้นๆ อย่างไรก็ดี  เพื่อให้เป็นที่แน่ใจว่ากำหนดการ  (  Good   Programme  )  ที่ได้จัดให้เยาวชนนั้น   เหมาะสมกับกลุ่มอายุของเยาวชนตามที่ตั้งใจไว้แล้ว   แม้ว่านี่เป็นเรื่องจำเป็นก็ตามที  แต่เรามักจะไม่ค่อยได้ทำกัน

สถานที่  เป็นปัจจัยสำคัญอีกอย่างหนึ่ง  ทุกคนเข้าใจดีว่า  ความต้องการของเด็กในประเทศ

ซาอุดิอารเบีย ย่อมแตกต่างกับความต้องการของเด็กอายุเดียวกันที่อยู่ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์หรือในประเทศบราซิล  เป็นตัวอย่าง  โดยเหตุผลดังกล่าวนี้   แม้ว่าเราจะรักษาและปฏิบัติตามหลักการขั้นพื้นฐานเดียวกันและใช้วิธีการของลูกเสือเดียวกัน  แต่การใช้ในภาคปฏิบัติหรือเงื่อนไขในการนำไปใช้  นั้นคงจะแตกต่างกันไป  ในแต่ละประเทศ

เวลา  เป็นปัจจัยสำคัญอันที่สาม  สภาพเป็นอยู่ของชีวิตที่เราดำรงชิวิตอยู่ย่อมเปลี่ยนแปลงไปได้เมื่อเวลาได้ผ่านไป  ทำนองเดียวกันปัญหาต่างๆ ซึ่งเยาวชนต้องเผชิญอยู่  หรือโอกาสที่เยาวชนได้รับย่อมเปลี่ยนแปลงไปด้วย

ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้กิจกรรมต่างๆ ที่ได้รวมไว้ในหลักสูตรลูกเสือ  ( Scout  Programme  ) เมื่อห้าสิบปีมาแล้วหรือเมื่อ  ๑๐  ปีมาแล้ว  ก็ตามที  อาจจะไม่เป็นเรื่องที่เหมาะสมและไม่อยู่ในประเด็นสำหรับกาลปัจจุบันนี้เสียแล้ว

ปัญหาที่มีอยู่ขณะนี้  มีว่าเราในฐานะผู้บังคับบัญชาลูกเสือต้องแน่ใจ  เข้าใจกิจกรรมลูกเสือหรือเทคนิคต่างๆ ที่นำมาใช้ในกิจการลูกเสือนั้นมีจุดมุ่งหมายอย่างไร  และพึงมีประโยชน์แก่เยาวชนอย่างไร  เราจึงจำเป็นต้องมองหาวิธีการใหม่และกิจกรรมใหม่ที่เยาวชน   ในปัจจุบันสามารถจะยอมรับและบรรลุถึงวัตถุประสงค์อย่างเดียวกัน

ขออย่าให้เราทำการเปลี่ยนแปลงเพื่อสักแต่ว่า  ให้มีการเปลี่ยนแปลงเท่านั้น  แต่ขอให้เราเปลี่ยนแปลงเพื่อให้กิจการลูกเสือดีขึ้น

เมื่อพิจารณาปัจจัยสามประการดังกล่าวข้างต้น  และ  ความจริงที่ว่า  กำหนดการ  (Programme)   ของเราต้องตอบสนองความต้องการและความปรารถนาของเยาวชนแล้ว   จึงเป็นธุรกิจของคณะลูกเสือแห่งชาติของแต่ละประเทศที่จะต้องจัดทำกำหนดการ   (  Programme  )   ของตนเองขึ้นเพื่อให้สนองความต้องการ  และความปรารถนาของเยาวชนในประเทศตน  ในขณะเดียวกัน  แต่ละประเทศมีภารกิจที่ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักการขั้นพื้นฐาน  และวิธีการของกิจการลุกเสือ  ซึ่งมีมาเป็นเวลาช้านานและยอมรับกันทั่วไปแล้วด้วย

สอดคล้องกับความต้องการของสังคม

การฝึกอบรมเยาวชนเพื่อให้เป็นพลเมืองดีของชาตินั้น  เป็นประเด็นสำคัญของกิจการลูกเสือ  แต่วิธีการฝึกอบรมย่อมแตกต่างกันไปตามส่วนต่างๆ และประเทศต่างๆ ของโลก  ฉะนั้นในการจัดทำหรือนำเอากำหนดการ    (  Programme  )        ของประเทศอื่นมาปรับปรุงขึ้นเพื่อใช้เป็นกำหนดการของเยาวชน  (  Youth   Programme  )   ในประเทศตน  จึงไม่สมควร  คณะลูกเสือแห่งชาติควรให้ความสนใจเป็นพิเศษ  ถึงความต้องการของสังคมด้วย  เพราะกิจการลูกเสือเป็นส่วนของสังคมนั้นด้วย

ในประเทศสมาชิกหลายประเทศ   กิจการลูกเสือจะไม่เพียงแต่เพียงหน่วยงานที่จัดทำกิจกรรมยามว่างให้เยาวชนเท่านั้น  สังคมมีสิทธิ์หวังจะได้รับบางสิ่งบางอย่างจากเยาวชนผู้เป็นลูกเสือสมาชิกของสังคมด้วย  ในหลายประเทศกิจการลูกเสือได้มีส่วนช่วยเหลือสังคมคือ  มีส่วนร่วมในขบวนการสร้างชาติ

เป็นประจักษ์ชัดว่า   การฝึกอบรมเยาวชนเพื่อให้เป็นพลเมืองดีนั้น  ไม่ควรพิจารณาจากมุมแคบอย่างเดียว  แต่ควรจะมองจากมุมกว้าง  คือมองไปถึงโกอันกว้าวใหญ่ด้วย  กิจการลูกเสือควรจะส่งเสริมให้เยาวชนได้เป็นผู้ใหญ่ที่มีจิตใจกว้างขวาง  มีน้ำใจเป็นมิตร  ไม่รังเกียจและมีความลำเอียง   สามารถจะเข้าใจและซาบซึ้งในวัฒนธรรมและค่านิยมของผู้อื่น  พร้อมที่จะเข้าร่วมทำงานกับผู้อื่นได้ด้วย

นี่คือมติใหม่ระหว่างนานาชาติในขบวนการลูกเสือโลก  และเป็นวิธีการที่จำเป็นของบวนการลูกเสือด้วย

เป็นการก้าวหน้าและเร้าใจ

กำหนดการที่ดี  (  Good   Programme  ) ต้องเป็นสิ่งที่ท้าทายลูกเสือสำรอง  ลูกเสือสามัญ  ลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่ และลูกเสือวิสามัญ  กับทั้งต้องให้โอกาสเพื่อเป็นการพัฒนาส่วนตัว  และมีการเจริญก้าวหน้าสำหรับลูกเสือทุกคนด้วย  ถ้าจะให้ลูกเสือกระทำกิจกรรมอย่างเดียวกันซ้ำแล้วซ้ำเล่าในการประชุมกองลูกเสือแต่ละครั้ง   กิจกรรมนั้นจะไม่ให้การท้าทายแก่ลูกเสือเลย   ทั้งไม่มีการก้าวหน้า  เมือเป็นเช่นนี้ลูกเสือก็จะไม่สนใจ  ไม่ช้าไม่นานเด็กก็จะออกจากการเป็นลูกเสือไปเพราะเบื่อ

การจัดทำกำหนดการ  (   Programme   )  นั้น  ควรเป็นไปในทางที่จะให้เกิดประสบการณ์ใหม่  และเป็นประสบการณ์ที่น่าสนใจแก่ลูกเสือ  กับทั้งควรให้มีการเพิ่มความรู้และพัฒนาทักษะด้วย   นอกจากนั้นควรเป็นการสร้างเจตคติใหม่  เจตคติที่ดีกว่าเดิมต่อบุคคลอื่น   หรือต่อความคิดเห็นใหม่ๆ ที่ได้ค้นพบ  และสังคมได้ยอมรับกันแล้ว

ไม่ว่าคณะลุกเสือแห่งชาติจะเน้นหนักในประการหนึ่งประการใดก็ตามที  ควรจะได้คำนึงถึงความได้สัดส่วนสมดุลกัน   ระหว่างกิจกรรมต่อไปนี้ด้วยคือ   ระหว่างการเล่น , ทักษะที่มีประโยชน์  การให้บริการแก่ชุมชน  และกิจกรรมกลางแจ้ง

นำกำหนดการไปใช้ตามวิธีของกิจการลูกเสือ

กำหนดการที่ดี  (  Good   Programme  )  ควรจะสนับสนุนการค้นพบที่ก้าวหน้าและต่อเนื่องกันในเรื่องค่านิยม  อันมีอยู่ในคำปฏิญาณและกฎของลูกเสือ  ในเวลาเดียวกันควรยึดถือว่า  คำปฏิญาณและกฎของลูกเสือ”   เป็นกติกาของกิจกรรมทุกอย่าง

วิธีการทางการศึกษา  ถึงแม้ว่าเป็นวิธีการหนึ่งที่น่าสนใจและมีประสิทธิภาพ   แต่วิธีการนั้นไม่ใช่วิธีการของลูกเสือ   กองลูกเสือไม่ใช่ห้องเรียน  ทั้งสำนักงานที่ตั้งกองลูกเสือก็ไม่ใช่ชั้นเรียน  เราไม่สอนการปฐมพยาบาลไม่สอนหน้าที่พลเมืองด้วยสมุดโน้ต , กระดานดำ และชอล์ก  ในกิจการลูกเสือวิชาเหล่านี้และวิชาอื่นอีกด้วยจะได้เรียนได้สอนกันด้วยการปฏิบัติ  โดยการใช้เล่นเกม  การอยู่ค่ายพักแรม  การทำงานตามโครงการ   กิจกรรมกลางแจ้ง  และกิจกรรมอื่น ๆ  การเรียนรู้ด้วยการกระทำเป็นหัวใจสำคัญของวิธีการลูกเสือ

โดยปกติลูกเสืออยู่รวมกันเป็นกลุ่มเล็ก ๆ การกระทำเช่นนี้เราเรียกว่าระบบหมู่  อันเป็นลักษณะที่ได้ริเริ่มมีขึ้นมาเป็นครั้งแรก  ลักษณะหนึ่งในระบบหมู่นั้นได้มีสมาชิกจำนวน  ๖  – ๘  คน  มีกลุ่มอายุเดียวกัน  เขาช่วยกันทำการตัดสินใจ  จัด  และดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ นำกำหนดการ (  Programme  )  ไปใช้ในการปฏิบัติเขาจะเลือกผู้นำหมู่ของเขาเอง  นายหมู่และลูกหมู่จะร่วมกันรับผิดชอบและร่วมทำธุรกิจด้วยกันตามความเหมาะสม  เพื่อว่าการดำเนินงานของหมู่จะได้ดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย   ภายใต้แนวความคิดอันนี้บทบาทของผู้กำกับลุกเสือจึงเป็นบทบาทที่ให้การสนับสนุนแนะแนว  ไม่ใช่การควบคุมและบอกสั่ง บทบาทของผู้กำกับลูกเสือคือการจัดให้มีสภาวการณ์อันดีที่สุดที่ลูกเสือทั้งหลาย  ผู้ซึ่งรับผิดชอบต่อความเจริญเติบโตและก้าวหน้าของตนสามารถพัฒนาคุณภาพและความสามารถของเขาเองได้

ตามวิธีการของกิจการลูกเสือนั้น  ผู้กำกับลูกเสือส่วนใหญ่จะทำหน้าที่อย่างเดียวกับคนทำสวน  คือมีหน้าที่ดูแลพืชผลที่เขาปลูก  รดน้ำ  เก็บวัชพืชที่ไม่พึงประสงค์ทิ้งไปเสีย  และคอยเฝ้าดูความเจริญงอกงามของพืชผลที่เขาได้ปลูกไว้  ต้นไม้จะไม่เติบโตเร็วขึ้น  โตใหญ่ขึ้น  หรือดีขึ้น  เพราะชาวบ้านได้ดึงมันขึ้นมาความสัมพันธ์ระหว่างผู้กำกับลูกเสือกับลูกเสือซึ่งเป็นเยาวชนวัยรุ่นนั้น  ควรเป็นไปในลักษณะเช่นว่านี้

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้  เป็นเงื่อนไขสำหรับกำหนดการที่ดี   (  Good   Programme  )  กำหนดการที่ดีเป็นเงื่อนไขที่จะทำให้บรรลุวัตถุประสงค์ของกิจการลูกเสือ  แต่ประสบการณ์ได้แสดงให้เห็นว่าการมีกำหนดการที่ดีอย่างเดียว   ยังไม่เป็นการเพียงพอกำหนดการที่ดีเคยได้ประสบความล้มเหลวมาแล้ว   เพราะความขาดตกบกพร่องของผู้กำกับลูกเสือ  ซึ่งมีภารกิจที่จะนำกำหนดการที่ดีไปใช้กับลูกเสือ  คุณภาพที่ดีของผู้กำกับลูกเสือจึงเป็นปัจจัยสำคัญ  ในการกำหนดการไปใช้ด้วยวิธีการอันถูกต้องจากข้อความนี้จึงนำเราไปสู่เรื่องการฝึกอบรมผู้กำกับลูกเสือ

การฝึกอบรมที่ดีสำหรับผู้กำกับ   (   Good   Training   )

ขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้กำกับลูกเสือ

แผนการฝึกอบรมผู้กำกับลุกเสือ  ซึ่งเป็นผู้ใหญ่  อาจจะกำหนดขึ้นได้ภายหลังที่ได้พิจารณาอย่างถี่ถ้วนถึงเรื่องบทบาทและภารกิจ  (   Role  and  Functions  )   ของผู้กำกับลูกเสือ  และจำแนกความต้องการของผู้กำกับออกมาได้ว่ามีอะไรบ้าง

ที่กล่าวมานี้ส่วนใหญ่จะขึ้นอยู่กับลักษณะของการฝึกอบรม  เพราะเป็นที่ประจักษ์ชัดเจนอยู่แล้วว่าการฝึกอบรมนั้น   มีขึ้นเพื่อสนับสนุนการนำกำหนดการที่ดีไปใช้ด้วยวิธีการที่เหมาะสม

ความต้องการของผู้กำกับดังกล่าวนี้มีหลายอย่างแตกต่างกัน  แต่ถ้าจะสรุปเข้าแล้วความต้องการดังกล่าวนั้นจะสรุปลงได้เป็นข้อใหญ่  ๓  ประการ  คือ  ความต้องการในเรื่องความรู้หนึ่ง   ทักษะหนึ่ง  และเจตคติหนึ่ง

สำหรับความต้องการข้อแรก  คือ  ความรู้นั้นเกี่ยวพันไปถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่ผู้กำกับควรรู้   เพื่อว่าจะได้ปฏิบัติงานในหน้าที่ของตนให้ได้ผลดีที่สุด

สำหรับความต้องการข้อสอง  คือ  ทักษะนั้นเกี่ยวพันไปถึงสิ่งต่างๆ ที่ผู้กำกับควรสามารถจะทำได้เพื่อที่จะให้ประสบผลสำเร็จของงานในหน้าที่ของตน

สำหรับความต้องการข้อสาม   คือ   เจตคตินั้นเกี่ยวพันไปถึงการพัฒนาเจตคติที่ดีให้มีขึ้นต่องาน  เพื่อที่จะให้นำกำหนดการไปใช้ได้ประสบผลถึงที่สุด

การฝึกอบรมแล้วตลอดเวลา   เว้นแต่ว่าเพื่อให้เป็นที่แน่ใจว่า   ผู้กำกับจะได้นำภารกิจของผู้กำกับไปใช้กับกองลูกเสือของเขาอย่างถูกต้องเรียบร้อย   เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่สมาชิกวัยรุ่นในขบวนการลูกเสือ   จึงควรใส่เทคนิคลงไปด้วย

ขึ้นอยู่กับความต้องการของคณะลุกเสือแห่งชาติ

ถึงแม้นว่าการพัฒนาส่วนบุคคล   จะเป็นประเด็นสำคัญสำหรับผู้บังคับบัญชาลูกเสือ  ผู้ซึ่งมีความรับผิดชอบในขบวนการลูกเสือก็ตามทีแต่นั่นยังมิใช่เป็นจุดหมายอันเริ่มแรกของการฝึกอบรม ผู้บังคับบัญชาลูกเสือ  ประเด็นที่ควรจะเน้นให้หนักนั้น   คือการอบรมเชิงปฏิบัติงาน   เพื่อก่อให้เกิดภาวการณ์เป็นผู้นำที่ดีสำหรับคณะลูกเสือแห่งชาติ   และเพื่อให้ได้มีกิจการลูกเสือที่ดียิ่งขึ้นเพื่อประโยชน์แก่จำนวนเยาวชนลูกเสือมากยิ่งขึ้นด้วยเวลาเดียวกัน  การฝึกอบรมผู้กำกับลูกเสือในลักษณะเฉพาะนั้น   ก็จำต้องรักษาให้คงมีอยู่ตลอดไปด้วย

ต้องก้าวหน้าและเป็นที่เร้าใจ

แผนการฝึกอบรมผู้บังคับบัญชาลูกเสือ   ต้องเป็นไปในลักษณะที่ก้าวหน้า   แต่ละขั้นตอนได้เสริมเพิ่มสูงขึ้นมาจากขั้นที่แล้วมา   การจัดทำแผนการฝึกอบรมควรจัดทำด้วยความระมัดระวังเพื่อมิให้มีการซ้ำซ้อนกันขึ้นได้

ประสบการณ์เดิมและการฝึกอบรมที่ผู้เข้ารับการฝึกอบรมได้มีมาแล้ว   ควรคำนึงด้วยถ้าตอนใดของการฝึกอบรมพอจะนำสิ่งทั้งสองประการนี้มาไว้   เพื่อประโยชน์ของผู้เข้ารับการฝึกอบรมคนอื่น   ก็ควรนำมาใช้

ประสบการณ์ในการฝึกอบรมควรเป็นการท้าทาย  ไม่ว่าจะเป็นทางกาย , สติปัญญา  หรือกำลังใจ

หลักการที่ว่า  การเรียนรู้ด้วยการกระทำ   ควรจะนำมาใช้แทนหลักการที่ว่า  ความเบื่อหน่ายเกิดจากการฟังการบรรยาย”  ซึ่งในปัจจุบันนี้ยังนิยมใช้กันอยู่อย่างมาก

ต้องค้นหาวิธีการใหม่แล้วนำมาใช้   เพื่อที่จะเร่งเร้าความสนใจของผู้เข้ารับการฝึกอบรม  เพื่อก่อให้เกิดผลการเรียนรู้อย่างมากมาย  และยั่งยืนอยู่ได้นาน

สอดคล้องกับหลักการศึกษาของผู้ใหญ่

โดยปกติผู้ใหญ่มักจะไม่สู้เต็มใจที่จะเข้าการฝึกอบรม  ก็เพราะว่าผู้ใหญ่ไม่ประสงค์จะกลับไปสู่บรรยายของสภาวะในห้องเรียนอีก   การศึกษาของผู้ใหญ่จึงจำต้องพัฒนาให้ผิดแผกไปจากหลักการเรียนรู้ของเด็ก  ส่วนวิธีการหนึ่งที่นำมาใช้ก็ต้องให้แตกต่างกันออกไปด้วย

ความสัมพันธ์ระหว่างความรู้ที่ได้เรียนไปจากการฝึกอบรม  กับการปฏิบัติงานในหน้าที่  เมื่อผู้เข้ารับการฝึกอบรมกลับไปยังถิ่นฐานของตนแล้วนั้น  ควรพูดให้เห็นชัดแจ้งเพราะผู้ใหญ่ส่วนมากจะแสดงความสนใจน้อยใจ  ถ้าเขายังไม่เห็นความจำเป็นในเรื่องนี้

ผู้ใหญ่โดยปกติเป็นบุคคลที่มีความรับผิดชอบ  จึงควรทำให้เขามีความเข้าใจอย่างดีกับคำจำกัดความของวัตถุประสงค์ของการเรียนรู้   และการพัฒนาเกี่ยวกับประสบการณ์เรียนรู้   วิธีการที่นำมาใช้   ควรเป็นวิธีการที่จะให้เข้ารับการฝึกอบรมได้มีส่วนเข้าร่วมในกิจกรรมต่างๆ อย่างจริงจัง   ไม่ควรปล่อยให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมเป็นผู้นั่งฟัง  นั่งดู  แต่อย่างเดียว

การฝึกอบรมผู้ใหญ่ควรจะมีในสถานที่   ในสิ่งแวดล้อมที่จะให้ความสุขสบายพอสมควร  เพื่อสมาชิกทุกคนมีความรู้สึกว่าตนได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่น   และเป็นที่รู้จักของทุกคนอย่างดี   สามารถที่จะให้ความรู้ความคิดเห็นแก่กระบวนการฝึกอบรมครั้งนั้นได้

เงื่อนไขต่างๆ ที่ได้กล่าวมาแล้วนี้  ควรจะส่งเสริมบำรุงคุณภาพของภาวการณ์เป็นผู้นำในคณะลูกเสือแห่งชาติให้ดียิ่งขึ้น  อันเป็นเหตุที่จะก่อให้เกิดความสำเร็จในการที่จะทำกำหนดที่ดี  ( Good   Programme  )  ไปสู่ลูกเสือ  แม้กระนั้นก็ดีเท่าที่กล่าวมานี้ก็ยังไม่เป็นการเพียงพอ  เพราะเขายังขาดหลักการสำคัญอีกประการหนึ่ง  นั่นคือ  การสนับสนุนอย่างเพียงพอ

การสนับสนุนอย่างเพียงพอ   (   Good   support   )

ด้วยวิธีการจัดตั้งตำแหน่งงานอย่างเหมาะสมในคณะลูกเสือแห่งชาติ

การจัดให้มีการสนับสนุนอย่างเพียงพอ  เป็นสิ่งจำเป็น  และควรจะมีให้ทั่วถึงด้วยวิธีการต่างๆ กันภายในคณะลูกเสือแห่งชาติ  วิธีการเช่นว่านี้อาจจะเป็นในรูปคณะกรรมการต่างๆ รูปกลุ่มทำงาน  และหรือรูปกลุ่มเฉพาะกิจ

ในระดับชาติ  คณะลูกเสือแห่งชาติควรมีบุคคลที่มีความรู้  ความสามารถรับผิดชอบในเรื่องสำคัญๆ  เช่น  เรื่องกำหนดการ  (  Programme  )  , เรื่องการฝึกอบรม , เรื่องการเงิน , เรื่องการประชาสัมพันธ์ , เรื่องการบริหาร ฯลฯ  ทั้งนี้  แล้วแต่ขนาดของคณะลูกเสือแห่งชาตินั้น ๆ งานในตำแหน่งที่กล่าวมานั้น  จะมอบแก่บุคคลหรือกลุ่มบุคคลก็ทำได้  แต่บุคคลเหล่านั้นควรเป็นผู้เชี่ยวชาญงานนั้น ๆ และมีความรอบรู้เรื่องกิจการลูกเสือในประการต่าง ๆ อีกด้วย  นอกเหนือไปจากความรู้และความเชี่ยวชาญในงานของตน

ในระดับจังหวัด – ระดับอำเภอหรือระดับกลุ่มลูกเสือ  ผู้ตรวจการลูกเสือเป็นผู้รับผิดชอบในเรื่องคุณภาพ  และการพัฒนากิจการลูกเสือในจังหวัด  ในอำเภอในกลุ่มลูกเสือของตน  ผู้ตรวจการลูกเสือควรจะให้เป็นที่แน่ใจว่าผู้กำกับลูกเสือทั้งหลายได้รับการสนับสนุนทั้งในด้านเทคนิค  และสนับสนุนส่วนบุคคลด้วย  เมื่อมีความจำเป็น  ผู้ตรวจการลูกเสือควรจะให้มีคณะผู้ช่วย  ซึ่งได้คัดเลือกจากบุคคลที่มีทักษะ  ในเรื่องต่างๆ ดังกล่าวข้างต้น  (  เช่น  กำหนดการ , การฝึกอบรม , การเงิน , การประชาสัมพันธ์  ฯลฯ  )

จะเป็นกรณีใดก็ตาม  การจัดรูปการให้การสนับสนุนอย่างเพียงพอนั้น  ควรจะเป็นไปในรูปที่จะสนองความต้องการอันจำเป็น  ที่ได้กำหนดไว้อย่างชัดแจ้งแล้วเท่านั้น   ไม่ควรที่จะถกเถียงกัน  เพื่อจะบรรลุบุคคลเข้าให้เต็มตำแหน่งที่เขียนไว้ในรูปแผนบริหารงาน  (  Organization   chart  )  แต่ควรจัดให้มีบุคคลดังกล่าว  เพื่อสนองความต้องการและสามารถให้การสนับสนุนอย่างเพียงพอในตำแหน่งนั้น  ซึ่งถ้าหากว่าไม่มีการสนับสนุนอย่างเพียงพอแล้ว   งานการจะไม่เกิดขึ้นเลยผู้กำกับลูกเสือก็คงว้าเหว่อยู่ต่อไป

จุดมุ่งหมายประสงค์ของบทความนี้  คือการจัดให้มีการกำหนดข้อทดสอบขึ้นไว้  เพื่อท่านจะได้ใช้วิจารญาณของท่านเอง  ในสถานการณ์ของท่าน  บางทีท่านอาจจะพบเห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นไปนั้นดีที่สุดแล้ว  แต่บางทีอาจจะไม่เห็นเช่นนั้นก็ได้   แต่อย่างไรก็ได้  ขอให้ท่านใช้แนวคิดเพื่อเข้าสู่ปัญหาเกี่ยวกับเรื่องนี้ในทางบวก  จงพยายามหลีกเลี่ยง  การพิพากษ์วิจารณ์ในทางลบทางทำลาย  จงมองหาวิธีแก้ไขปัญหาของท่านในทางที่เหมาะสม  และเกี่ยวกับการใช้ปฏิบัติได้  หวังว่าบทความนี้คงช่วยท่านได้บ้าง


ขอขอบคุณแหล่งที่มา : https://www.gotoknow.org/posts/419495
 

Loading

Message us