ภาพประกอบจากกอินเทอร์เน็ต

ในพิธีทบทวนคำปฏิญาณและสวนสนามของลูกเสือ เนื่องในวันคล้ายวันสถาปนาคณะลูกเสือแห่งชาติ ซึ่งจัดขึ้นในแต่ละจังหวัดนั้น จะมีการเชิญธงลูกเสือจังหวัด เข้าสู่สนาม เพื่อให้พี่น้องลูกเสือได้ทราบถึงเรื่องราวและความสำคัญของธงอันสำคัญยิ่งนี้มากยิ่งขึ้น

เมื่อครั้งรัชกาลที่ 6 และ 7 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้พระราชทานกำเนิดลูกเสือไทย และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานธงประจำกองลูกเสือประจำมณฑล เพื่อเป็นศูนย์รวมใจของบรรดาลูกเสือ และเป็นที่เคารพสักการะแทนพระองค์ เสมือนว่าประทับอยู่ใกล้ชิดบรรดาลูกเสือทั้งปวงอยู่เสมอ

ต่อมา ในรัชกาลที่ 8 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร ผู้ทรงเป็นสภานายกสภากรรมการกลางจัดการลูกเสือแห่งสยาม ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทาน “ธงลูกเสือจังหวัด” ขึ้นเป็นครั้งแรก แทนธงลูกเสือมณฑล โดยมีรูปแบบคล้ายธงคณะลูกเสือแห่งชาติ แต่มีสัดส่วนกว้างยาวกว่า กลางผืนธงมีวงกลมสีเหลือง ในวงกลมมีตราคณะลูกเสือแห่งชาติ ด้านล่างมีข้อความบอกนามจังหวัด ธงลูกเสือประจำมณฑลจึงพ้นสมัยการเชิญออกใช้นับแต่นั้น คงเก็บไว้เป็นที่เคารพบูชาต่อไป

ธงลูกเสือจังหวัดปัตตานี (ผืนเดิม)
ภาพประกอบจาก : https://www.facebook.com/169721363068797/photos/a.4118247141549513/7907195002654689/

จนถึงในรัชกาลที่ 9 ในพิธีเปิดงานชุมนุมลูกเสือแห่งชาติ ครั้งที่ 3 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานธงคณะลูกเสือแห่งชาติ และธงลูกเสือจังหวัด แทนธงเดิมที่ชำรุด ในวันที่ 20 พฤศจิกายน ๒๔๙๗ และล่าสุด ในการฉลอง 100 ปีคณะลูกเสือแห่งชาติ 1 กรกฎาคม 2554 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ ในการพระราชทานธงคณะลูกเสือแห่งชาติ พร้อมธงลูกเสือจังหวัด แทนธงเดิมที่ชำรุด และที่ยังไม่ได้รับพระราชทาน ณ สนามกีฬาแห่งชาติ

ธงลูกเสือจังหวัดพิษณุโลก
ภาพประกอบจาก : https://www.facebook.com/169721363068797/photos/a.4118247141549513/7901064233267766/

ทั้งนี้ ธงลูกเสือจังหวัด มีกำหนดไว้ในพระราชบัญญัติลูกเสือ พ.ศ. 2551 หมวด 4 มาตรา 50 ความว่า “ให้มีธงคณะลูกเสือแห่งชาติ และธงลูกเสือประจําจังหวัดโดยรับพระราชทานจากประมุขของคณะลูกเสือแหงชาติ” และปรากฎในพระราชบัญญัติธง พ.ศ. 2522 หมวด 6 มาตรา 39 อีกด้วย ดังนั้น การปฏิบัติต่อธงลูกเสือจังหวัด ซึ่งเป็นเครื่องหมายแทนพระองค์ประมุขของคณะลูกเสือแห่งชาติ และสถาบันอันควรเคารพ คือชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ จะต้องเป็นไปด้วยความเคารพ

“ธงลูกเสือจังหวัด” เครื่องรวมใจของลูกเสือทั้งปวง เป็นเครื่องหมายอันควรเคารพสักการะแทนพระองค์พระมหากษัตริย์ เครื่องเตือนใจให้ระลึกถึงพระศาสนาและประเทศชาติ ดังนั้น หากพี่น้องลูกเสือ และทุกท่านได้พบเห็น หรือมีการเชิญธงลูกเสือจังหวัด ผ่านบริเวณที่พี่น้องลูกเสือ หรือท่านกำลังอยู่ในบริเวณนั้น โปรดหยุดยืนแสดงความเคารพธง ซึ่งเป็นหลักชัยในการทำประโยชน์ เป็นสิ่งแทนองค์พระประมุขของชาติและคณะลูกเสือไทย และเป็นที่ควรเคารพอย่างยิ่งของลูกเสือไทยทั้งมวล

ที่มา : https://blog.nsru.ac.th/60111806004/4732

Loading