ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

กิจการลูกเสือโลกได้เริ่มขึ้น ณ ประเทศอังกฤษ เมื่อ พ.ศ. 2450 โดย บารอน โรเบิร์ต สตีเฟนสัน สไมธ์ เบเดน โพเอลล์ เรียกชื่อสั้นๆ ว่า ลอร์ด เบเดน โพเอลล์ แห่งกิลเวลล์ หรือบุคคลทั่วไปเรียกชื่อท่านย่อ ๆ ว่า บี.– พี. เมื่อครั้งกองทัพอังกฤษ ได้รับชัยชนะจากสงครามบัวร์ ที่เมืองมาฟิคิง ซึ่งเป็นเมืองขึ้นของประเทศอังกฤษ ในสหภาพอาฟริกาใต้ สงครามครั้งนั้น ท่านได้จัดตั้งกองทหารเด็กขึ้นหน่วยหนึ่ง เพื่อใช้เป็นกำลังช่วยเหลือในสงคราม เมื่อกลับจากราชการสงครามที่เมืองมาฟิคิงแล้ว ลอร์ด เบเดน โพเอลล์ ได้ร่างโครงการฝึกอบรมเด็กโดย มีหลักการคล้ายการฝึกอบรมลูกเสือในปัจจุบัน และทำการทดลองฝึกอบรม เป็นครั้งแรก ณ เกาะบราวน์ซี ประเทศอังกฤษ ปรากฏว่าได้ผลดีตามความมุ่งหมายทุกประการ จึงทำให้ลอร์ด เบเดน โพเอลล์ เกิดแนวคิดขยายกิจการลูกเสือให้กว้างขวางออกไป หลังจากนั้นกิจการลูกเสือได้เริ่มขึ้นอย่างจริงจังเป็นครั้งแรกในโลก

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นการณ์ไกลว่าถึงเวลาแล้ว ที่คนไทยจะต้องตื่นจากการหลับใหล ถ้ายังมัวหลับใหลอยู่เมืองไทยจะต้องสูญเสียแผ่นดินไทย และเอกราชอธิปไตยให้แก่ประเทศมหาอำนาจ โดยมีเหตุการณ์แวดล้อมหลายประการด้วยกัน จึงทรงเร่งการปลุกใจคนไทยในเรื่องรักชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ เพราะสถาบันทั้งสามนี้ เป็นพื้นฐานแห่งความมั่นคงของประเทศ วิธีการปลุกใจของล้นเกล้าฯ มีดังนี้ ปลุกใจผู้ใหญ่ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งกองอาสาสมัครเสือป่าขึ้น เมื่อวันเสาร์ที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2454 (ร.ศ. 130) เพื่อฝึกหัดวินัยทหารให้ข้าราชการในกระทรวงต่าง ๆ โดยเฉพาะข้าราชสำนักเป็นเบื้องต้น ทรงฝึกอบรมสั่งสอนเสือป่าด้วยพระองค์เอง (สถานที่ฝึกหัดอบรมเสือป่า คือ สโมสรเสือป่าพระราชวังดุสิต และพระลานพระราชวังดุสิต จึงเรียกกันว่าสนามเสือป่า มาจนถึงทุกวันนี้ ) การฝึกหัดเสือป่า คือ การฝึกอบรมจิตใจ ในเรื่องการรักชาติบ้านเมือง ฝึกอบรมทางกาย คือ การฝึกอบรมการใช้อาวุธ และการฝึกหัดท่าทหาร โดยที่ประเทศไทยเป็นประเทศเล็ก ไม่มีกำลังทหารเพียงพอแก่การรักษาประเทศ จึงได้ทรงฝึกให้ราษฎร ใช้อาวุธปืน เพื่อสามารถช่วยทหารได้ในเวลาคับขัน ทรงนำกองอาสาสมัครเสือป่าซ้อมรบยุทธวิธีด้วยพระองค์เอง ปลุกใจเด็ก

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

เมื่อทรงเห็นว่าการฝึกอบรมเสือป่าได้ผลเป็นที่พอพระราชหฤทัย ก็ทรงพระอนุสรณ์คำนึงถึงเยาวชน ด้วยเหตูว่าบรรดาเสือป่าทั้งหลาย ที่ได้ฝึกหัดอบรมสั่งสอน ไปแล้วนั้น ล้วนแต่เป็นผู้ใหญ่จะอยู่ช่วยกันรักษาบ้านเมือง และเอกราชอธิปไตยของไทยก็คงได้ ไม่มากนัก ผู้ที่จะสืบมรดกนี้ต่อไป ก็ไม่มีใครนอกจากอนุชนคนรุ่นหลัง เพราะเด็กเปรียบเสมือน ไม้อ่อนที่จะดัดหรือสั่งสอนได้ง่าย ส่วนผู้ใหญ่ซึ่งเปรียบเสมือนไม้แก่ดัดยาก ต้องลนไฟถึงจะเข้ารูปได้ตามใจผู้ดัด พระองค์ทรงปรารถนาที่จะให้เด็กไทยได้มีโอกาสทำประโยชน์อันยอดเยี่ยมให้แก่ชาติไทย ซึ่งเป็นบ้านเกิดเมืองนอนของเรา และทรงมุ่งหวังที่จะให้เด็กไทยเป็นรากแก้วแห่งความเจริญของบ้านเมือง

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศใช้ข้อบังคับลักษณะปกครองลูกเสือฉบับแรก เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2454 (ร.ศ. 130) ทรงพยายามชี้ทางให้เด็กไทย ดำเนินชีวิตในทางที่ดีงาม เพื่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และบรรพบุรุษ ตลอดจนเพื่อนร่วมชาติของตนในทางที่ถูกที่ควรพระราชทานคำขวัญเสือป่าเป็นคติประจำใจแก่ลูกเสือยึดถือและปฏิบัติว่า “เสียชีพอย่าเสียสัตย์” และทรงรับสั่งว่า “คติประจำใจนี้ไม่ใช่ยึดถือ แต่ในขณะที่แต่งเครื่องแบบลูกเสือเท่านั้น ลูกเสือทุกคนจะต้องยึดถือเป็นคติประจำใจไม่ว่าจะอยู่ในเครื่องแต่งตัวอย่างไร”

คณะลูกเสือแห่งชาติจึงได้ถือกำเนิดตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา นับเป็นกลุ่มประเทศ ที่ 3 โดยมีประเทศชิลีเป็นประเทศกลุ่มแรก และประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศกลุ่มที่ 2 และประเทศไทยเป็นสมาชิกก่อตั้งองค์กรลูกเสือโลกในปี พ.ศ. 2465 (ปัจจุบันสมาชิกลูกเสือโลกมี 172 ประเทศ) ประเทศล่าสุดคือประเทศหมู่เกาะโซโลมอน

บัดนี้ ลูกเสือไทยได้เวียนมาบรรจบครบรอบ 111 ปี ในปี พ.ศ. 2565 นี้ โดยทุกปีคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ จัดกิจกรรมสำคัญเพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ พระผู้พระราชทานกำเนิดลูกเสือไทย และแสดงความจงรักภักดีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

ประมุขของคณะลูกเสือแห่งชาติ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช พระองค์เป็นประมุขของคณะลูกเสือแห่งชาติ ทรงเสด็จพระราชดำเนินเปิดงานและทรงเป็นประธานในพิธีทบทวนคำมั่นสัญญาในชุมนุมลูกเสือแห่งชาติ ครั้งที่ 3 ณ สนามกีฬาแห่งชาติ เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2497 การนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานธงคณะลูกเสือแห่งชาติ ธงลูกเสือประจำจังหวัด และพระราชทานพระบรมราโชวาทแก่บรรดาลูกเสือ และผู้บังคับบัญชาลูกเสือที่ได้มาร่วมงานชุมนุมฯ และวันที่ 26 พฤศจิกายน 2497 เสด็จพระราชดำเนินตรวจพลสวนสนาม ณ พระลานพระราชวังดุสิต และพระราชทานพระบรมราโชวาทอีกครั้ง นับเป็นการเสด็จ ณ พระลานพระราชวังดุสิต วาระแรก ยังความปลื้มปีติแก่บรรดาลูกเสือที่เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทเป็นอย่างยิ่ง นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณแก่คณะลูกเสือแห่งชาติอย่างหาที่สุดมิได้

ใคร่ขออัญเชิญพระบรมราโชวาทความตอนหนึ่งว่า

“ข้าพเจ้ามีความยินดีเป็นอันมาก ที่ได้มีโอกาสมาร่วมในพิธีทบทวนคำมั่นสัญญาและตรวจพลสวนสนามในวันนี้ ข้าพเจ้าขอถือโอกาสเตือนลูกเสือทั้งหลายว่า จึงยึดมั่นในคำขวัญของลูกเสือที่ว่า “เสียชีพอย่าเสียสัตย์” หมายความว่าเมื่อได้ให้คำมั่นสัญญาไว้ว่าจะทำอย่างไรแล้วต้องทำเหมือนปากพูดทุกอย่าง ในเรื่องนี้ข้าพเจ้าใคร่ขอย้ำว่าขอให้ลูกเสือ ทุกคนจงสำนึกมั่นอยู่ในเกียรติ หน้าที่ และจงเป็นพลเมืองดีของชาติ กล่าวคือ จะต้องเป็นผู้ประกอบด้วยศีลธรรม จรรยา มารยาทอันดีงาม เป็นผู้มีสุขภาพและอนามัยสมบูรณ์ มีความรู้ ความสามารถในการงาน และรู้จักเสียสละที่จะบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น ตลอดจนประเทศชาติของตน จงจำไว้ว่าอนาคตของชาติจะเจริญรุ่งเรืองหรือไม่นั้น ย่อมขึ้นอยู่กับเยาวชนเช่นท่านทั้งหลายนี้ ซึ่งจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในวันข้างหน้า”

อนึ่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเสด็จเป็นประธานในพิธีปฏิญาณตนและสวนสนาม เนื่องในวันคล้ายวันสถาปนาคณะลูกเสือแห่งชาติ เมื่อวันอังคารที่ 1 กรกฎาคม 2518 ณ พระลานพระราชวังดุสิต นับเป็นการเสด็จ ณ พระลานพระราชวังดุสิต วาระที่สอง

ขอขอบคุณ : Sommart Sungkapun

Loading