ประโยชน์ของการลูกเสือ


นายสมมาต สังขพันธ์ : ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

จากการที่องค์พระผู้พระราชทานกำเนิดลูกเสือไทยได้ไปทรงศึกษาอยู่ในต่างประเทศเป็นเวลายาวนาน และได้ทรงพิจารณาเห็นคุณประโยชน์ของกิจการลูกเสือมานับประการ ตลอดจน ในระยะสงครามโลกครั้งที่ 1 คณะลูกเสืออังกฤษและฝรั่งเศสได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างกล้าหาญ และได้ประโยชน์ต่อประเทศชาติเป็นอย่างมากนั้น ทำให้พระองค์ได้ทรงเล็งเห็นความสำคัญและได้ทรงวางพระบรมราโชบายเพื่อให้เยาวชนของไทยได้สร้างประโยชน์เท่าที่จะสามารถทำได้ไว้ถึง 7 ประการ คือ

  1. ช่วยเป็นหูเป็นตาในการส่งข่าวคราวให้บ้านเมืองทราบ
  2. ช่วยเป็นคนนำสาร และส่งข่าวให้แก่หน่วยทหารได้
  3. ช่วยสะกดรอยติดตามพวกผู้ก่อการร้าย
  4. ช่วยระวังรักษา และบอกเหตุถึงการก่อวินาศกรรมของผู้ก่อการร้าย
  5. ช่วยลำเลียงเสบียงอาหารให้แก่กองทหาร
  6. ช่วยรักษาความสงบเรียบร้อยภายในบ้านเมือง ในยามบ้านเมืองเกิดวิกฤติ
  7. ถ้าหากมีคนป่วย เจ็บก็สามารถเป็นผู้ช่วยเหลือพยาบาล ทำบาดแผลและช่วยเหลืออื่น ๆ ได้แนวทางต่าง ๆ

ข้างต้นที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า ฯ ได้ทรงกำหนดไว้ก็เพื่อว่าหวังที่จะพัฒนาเยาวชนให้เป็นลูกเสือที่ดีตลอดจนเป็นการเตรียมลู่ทางให้เป็นทหารที่ดีของชาติเมื่อเวลามาถึงและเพื่อให้เขาเหล่านั้นรักชอบวิชานักรบ (การทหาร) ด้วยความสมัครใจเพราะเป็นหน้าที่ของลูกผู้ชาย อีกประการหนึ่ง คนส่วนมากมักจะมองข้ามความสำคัญของเด็กไปเสีย จึงเป็นโอกาสอันดีที่เด็กอาจจะทำงานดังที่พระองค์ได้ทรงวางแนวทางดังกล่าวได้ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ได้เคยพระราชดำรัสไว้ว่า

“ลูกเสือคนใดได้ทำหน้าที่ช่วยชาติดังหัวข้อที่กล่าวมาแล้ว จะได้ชื่อว่าท่านได้ทำหน้าที่ลูกเสือของท่านสมกับที่เกิดมาเป็นลูกผู้ชายและเกิดมาเป็นคนไทย ท่านจะได้รับความขอบคุณจากวงการลูกเสือ สมควรจะได้รับการจารึกชื่อไว้บนแผ่นทองตามข้อกำหนดของลูกเสือ”

กิจการลูกเสือนั้นนับเนื่องได้จากการที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่6) ทรงตระหนักว่าประเทศไทยเป็นดินแดนที่อยู่ระหว่างดินแดนที่ตกเป็นเมืองขึ้นของประเทศอังกฤษ และฝรั่งเศส ประเทศไทยอยู่ในฐานะที่เป็นกลางไม่เข้ากับฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ดังนั้น จึงจำเป็นที่ประเทศไทยจะต้องมีความเข้มแข็งทางด้านกำลังทหารเพียงพอ เพื่อรักษาประเทศ เพราะว่าหากภายในประเทศเกิดความวุ่นวายเมื่อใด มหาประเทศก็จะจัดส่งกำลังทหารมาจัดการโดยอ้างว่าเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตน ถึงแม้ว่าจะมีการปรับปรุงกองทัพให้ดีขึ้นเพียงใด แต่ก็ขาดแคลนทุนทรัพย์ พระองค์จึงได้ทรงทดลองฝึกทหารมหาดเล็กประจำพระองค์ ที่พระราชวังสราญรมย์ และพระราชวังสนามจันทร์อย่างเงียบ ๆ เป็นเวลานานถึง 3 ปี แล้วจึงทรงโปรดเกล้า ฯ สถาปนากองเสือป่าขึ้นในวันที่ 6 พฤษภาคม 2454 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อฝึกหัดข้าราชการพลเรือนให้ได้เรียนรู้วิชาการทหาร เพื่อเป็นกำลังสำรองในเวลาศึกษาสงคราม และในยามสงบก็จะได้ช่วยเหลือราชการในการปราบปรามโจรผู้ร้าย หรือปราบจลาจล และเพื่อปลูกฝังให้พลเรือนได้เกิดความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา และองค์พระมหากษัตริย์ รวมทั้งปลูกฝังความสามัคคีให้เกิดขึ้นในหมู่คณะมิให้มีการทำลายซึ่งกันและกัน

เมื่อได้ทรงตั้งกองเสือป่าขึ้นแล้วก็ได้มีการประชุมเทศนาอบรมเสือป่าเป็นครั้งคราว ส่วนมากจะทรงสละเวลามาอบรมด้วยพระองค์เองเสมอ วันหนึ่งเป็นวันพระราชทานธงประจำกองเสือป่า และพระองค์ได้ทรงพระราชทานพระบรมราโชวาท มีข้อความที่น่าจับใจว่า

“วันนี้เป็นวันเสาร์และเป็นวันเกิดของเสือป่า ซึ่งพวกเรานับถือกันว่าเป็นวันมงคล เราจึงได้เรียกเจ้าทั้งหลายมาเป็นที่ระลึก และสำหรับเป็นที่เตือนใจแก่เจ้าทั้งหลายว่า
1. เจ้าเป็นไทย
2. เจ้าเป็นเสือป่า
3. เจ้าต้องเป็นผู้รักชาติบ้านเมือง และศาสนา
เจ้าทั้งหลายต้องรักษาธงชัยนี้ไว้ มิให้เป็นอันตรายหรือตกไปอยู่ในเงื้อมือของข้าศึกได้เป็นอันขาด ถึงแม้ว่าคราวที่สุดที่เจ้าทั้งหลายจะต้องสละชีวิตหรือเสียเลือด เพื่อป้องกันรักษาธงชัยนี้ ก็ไม่คงเป็นที่หวาดหวั่น ย่อท้อ ต้องรู้เสมอว่าเราเป็นไทย และต้องพยายามพร้อมกันทำหน้าที่ในการป้องกันรักษาพระเจ้าแผ่นดิน ชาติ ศาสนา และบ้านเกิดเมืองนอนของเราไว้จนเต็มกำลังและสติปัญญา ธงชัยที่ข้าพเจ้าจะให้เจ้าไว้นี้ขอให้เจ้าเข้าสู่แต่ชัยชนะ”

นอกเหนือจากกิจการเสือป่าแล้วพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวยังสนพระทัยในเรื่องของเด็กนับตั้งแต่ทรงเสด็จกลับจากการศึกษา ณ ประเทศยุโรป พระองค์ได้ทรงรับเด็กซึ่งเป็นบุตรของข้าราชการในพระราชสำนัก และโอรสของเจ้านายมาไว้เป็นมหาดเล็ก และได้ทรงอบรมสั่งสอนเด็กเหล่านั้นด้วยพระองค์เองเสมอมา การศึกษาที่โปรดพระราชทานสั่งสอน จะมีเนื้อหาหนักไปในทางศีลธรรมจรรยาเมื่อลอร์ด เบเดน-โพเอลล์ ได้จัดตั้งกองลูกเสือขึ้นในประเทศอังกฤษ เมื่อปี ค.ศ. 1907 (2450) พระองค์ทรงเห็นว่ากิจการลูกเสือเป็นกิจการที่สอดคล้องกับพระราชประสงค์ ในการปลุกใจพลเมืองให้มีความรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และรู้จักบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์แก่ชาติบ้านเมืองโดยส่วนรวม จึงได้ทรงจัดตั้งกองลูกเสือขึ้นเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2454 ซึ่งเป็นการจัดตั้งหลังจากที่ได้จัดตั้งกองเสือป่า 2 เดือน

คำว่า “ลูกเสือ” นั้นได้ตรงกับคำภาษาอังกฤษว่า “Scout” หมายถึง “การสอดแนม” แต่ก็มีผู้ให้ความหมาย โดยเอาอักษร ตัวหน้าของคำมาเรียงกัน ได้แก่
S = Smartness สง่า ผ่าเผย
C = Courtesy ความสุภาพอ่อนโยน
O = Obedience มีความเชื่อฟังคำสั่งสอน
U = Usefulness ทำตนให้เป็นประโยชน์แก่ตนเองและผู้อื่น
T = Trust มีความซื่อสัตย์สุจริต

ซึ่งเมื่อนำเอาอักษรดังกล่าวทั้ง 5 ตัว มารวมกันแล้ว ก็จะได้คำขึ้นมาที่แปลว่า ลูกเสือในภาษาไทย ซึ่งมีความหมายกว้างไกลจนสามารถกำหนดออกมาเป็นหลักการและสาระสำคัญของการลูกเสือได้อย่างชัดเจนหลักการและสาระสำคัญของลูกเสือหลักการและสาระสำคัญของการลูกเสือ คือ เป็นแก่น เนื้อแท้ หรือหลัก ส่วนสำคัญของการลูกเสือ ซึ่งประกอบด้วยเรื่องต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

  1. ขบวนการลูกเสือ
  2. องค์ประกอบสำคัญของการลูกเสือ
  3. อุดมการณ์ จุดหมาย หรือวัตถุประสงค์คณะลูกเสือแห่งชาติ
  4. วิธีการ
  5. แนวการฝึกอบรมลูกเสือ
  6. หลักการสำคัญของการลูกเสือดังจะกล่าวโดยละเอียดต่อไป ดังนี้

1. ขบวนการลูกเสือคืออะไร ขบวนการลูกเสือ คือ ขบวนการเยาวชน มีวัตถุประสงค์ในการฝึกอบรมเพื่อให้การศึกษาและพัฒนาเยาวชนให้เป็นพลเมืองดี โดยไม่คำนึงถึงเชื้อชาติ ศาสนา ทั้งนี้ เป็นไปตามความ มุ่งประสงค์ หลักการ และวิธีการ ซึ่งผู้ให้กำเนิดลูกเสือโลกได้ให้ไว้ “ขบวนการนี้เป็นขบวนการระดับโลก”

2. องค์ประกอบสำคัญของการลูกเสือ
2.1 ลูกเสือ
2.2 ผู้บังคับบัญชาลูกเสือ
2.3 มีจุดหมาย หรืออุดมการณ์
2.4 กิจกรรม
2.5 การบริหารงาน

3. จุดหมายหรือวัตถุประสงค์คณะลูกเสือแห่งชาติ ใน พ.ร.บ. ลูกเสือ พ.ศ. 2551 ได้บัญญัติวัตถุประสงค์ของคณะลูกเสือแห่งชาติไว้ว่า “วัตถุประสงค์ของคณะลูกเสือแห่งชาติ คือ การฝึกอบรมบ่มนิสัยลูกเสือให้เป็นพลเมืองดีตามจารีตประเพณีบ้านเมืองและอุดมคติ” ดังต่อไปนี้
3.1 ให้มีนิสัยในการสังเกต จดจำ เชื่อฟังและพึ่งตนเอง
3.2 ตามมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติลูกเสือ พ.ศ. 2551 ระบุว่า คณะลูกเสือแห่งชาติมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาลูกเสือทั้งทางกาย สติปัญญา จิตใจและศีลธรรม ให้เป็นพลเมืองดี มีความรับผิดชอบและ ช่วยสร้างสรรค์สังคมให้เกิดความสามัคคีและมีความเจริญก้าวหน้า ทั้งนี้ เพื่อความสงบสุขและความมั่นคงของประเทศชาติ

4. อุดมการณ์ของคณะลูกเสือแห่งชาติ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาเยาวชนทั้งกาย สติปัญญา จิตใจและศีลธรรมให้เป็นพลเมืองดี มีความรับผิดชอบ ช่วยสร้างสรรค์สังคมที่อยู่อาศัยให้ดีขึ้น มีความสงบสุข ทั้งเป็นพื้นฐานแห่งความมั่นคงของชาติ

5. วิธีการ วิธีการที่จะบรรลุถึงจุดหมายหรืออุดมการณ์ของคณะลูกเสือแห่งชาติคือ การจัดให้มีการฝึกอบรมที่ก้าวหน้า สนุกสนาน ดึงดูดใจ โดยอาศัยคำปฏิญาณ และกฎของลูกเสือเป็นบรรทัดฐาน มีผู้ใหญ่เป็นผู้คอยให้คำแนะนำ

6. แนวการฝึกอบรมลูกเสือ ใช้หลักสำคัญดังต่อไปนี้
6.1 เครื่องแบบลูกเสือ ถือว่าเป็นเครื่องแบบที่มีเกียรติ เป็นเครื่องหมายแห่งความดี ดังนั้นลูกเสือจะต้องพิถีพิถันในการแต่งเครื่องแบบลูกเสือที่ถูกต้องและสะอาดเรียบร้อยอยู่เสมอ กับทั้งจะต้องประพฤติดีปฏิบัติตนให้สมกับที่ได้ชื่อว่าเป็นลูกเสือ เพื่อเป็นการรักษาชื่อเสียงของตนและของคณะลูกเสือแห่งชาติ และถือว่าเครื่องแบบลูกเสือเป็นเครื่องหมายแห่งความเสียสละในการบำเพ็ญประโยชน์ต่อผู้อื่น
6.2 คำปฏิญาณและกฎของลูกเสือ ลูกเสือต้องเข้าใจและปฏิบัติตามคำปฏิญาณและกฎของลูกเสืออยู่เสมอโดยเฉพาะในเรื่องความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ความเป็นพี่น้องของลูกเสืออื่นทั่วโลก และการกระทำความดีต่าง ๆ ผู้ที่จะเป็นพลเมืองดีนั้น จะต้องเป็นผู้กระทำความดี มิใช่เป็นคนดีโดยอยู่เฉย ๆ ไม่ทำอะไรคำปฏิญาณของลูกเสือสำรองข้าสัญญาว่า
ข้อ 1 ข้าจะจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
ข้อ 2 ข้าจะยึดมั่นในกฎของลูกเสือสำรอง และบำเพ็ญประโยชน์ต่อผู้อื่นทุกวัน
กฎของลูกเสือสำรอง
ข้อ 1 ลูกเสือสำรองทำตามลูกเสือรุ่นพี่
ข้อ 2 ลูกเสือสำรองไม่ทำตามใจตนเอง
คำปฏิญาณของลูกเสือสามัญ ลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่ และลูกเสือวิสามัญด้วยเกียรติของข้า ข้าสัญญาว่า
ข้อ 1 ข้าจะจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
ข้อ 2 ข้าจะช่วยเหลือผู้อื่นทุกเมื่อ
ข้อ 3 ข้าจะปฏิบัติตามกฎของลูกเสือ
กฎของลูกเสือสามัญ ลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่ และลูกเสือวิสามัญ
ข้อ 1 ลูกเสือมีเกียรติเชื่อถือได้
ข้อ 2 ลูกเสือมีความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และซื่อตรงต่อ ผู้มีพระคุณ
ข้อ 3 ลูกเสือมีหน้าที่กระทำตนให้เป็นประโยชน์และช่วยเหลือผู้อื่น
ข้อ 4 ลูกเสือเป็นมิตรของคนทุกคนและเป็นพี่น้องกับลูกเสืออื่นทั่วโลก
ข้อ 5 ลูกเสือเป็นผู้สุภาพเรียบร้อย
ข้อ 6 ลูกเสือมีความเมตตากรุณาต่อสัตว์
ข้อ 7 ลูกเสือเชื่อฟังคำสั่งบิดามารดาและผู้บังคับบัญชาด้วยความเคารพ
ข้อ 8 ลูกเสือมีใจร่าเริงและไม่ย่อท้อต่อความยากลำบาก
ข้อ 9 ลูกเสือเป็นผู้มัธยัสถ์
ข้อ 10 ลูกเสือประพฤติชอบด้วยกายวาจา ใจ
6.3 การบำเพ็ญประโยชน์ต่อผู้อื่น เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ทำให้กิจการลูกเสือมีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักของบุคคลทั่วไป รากฐานของคติพจน์ของลูกเสือทั้ง 4 ประเภท เกี่ยวข้องกับอุดมคติของลูกเสือในการบำเพ็ญประโยชน์ต่อผู้อื่น

คติพจน์ของลูกเสือสำรองที่ว่า “ทำดีที่สุด” คือ การทำเพื่อส่วนรวม เป็นการกระทำที่ดีที่สุด

คติพจน์ของลูกเสือสามัญที่ว่า “จงเตรียมพร้อม” คือ พร้อมที่จะทำความดี พร้อมเพื่อสร้าง พร้อมเพื่อส่วนรวม

คติพจน์ของลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่ที่ว่า “มองไกล” คือ มองให้เห็นเหตุผล มองให้เห็นคนอื่น มองให้เห็นส่วนรวม มิใช่มองแต่ผลประโยชน์ของตัวเอง

คติพจน์ของลูกเสือวิสามัญที่ว่า “บริการ” คือ การให้ความช่วยเหลือแก่ผู้อื่น แก่ส่วนรวม

นอกจากนี้ในคำปฏิญาณและกฎของลูกเสือ ก็ได้ระบุถึงการบำเพ็ญประโยชน์ต่อผู้อื่น โดยถือว่าสำคัญมาก แหล่งหรือโอกาสที่ลูกเสือจะบำเพ็ญประโยชน์นั้น ควรเริ่มจากสิ่งที่ใกล้ตัวเด็กก่อน แล้วขยายให้กว้างขวางออกไปตามวัยและความสามารถของเด็ก คือ บำเพ็ญประโยชน์ต่อครอบครัว โรงเรียน ชุมชนที่ใกล้โรงเรียน งานสาธารณะ งานส่วนรวม และประเทศชาติในที่สุด
6.4 การฝึกอบรมที่ต่อเนื่องกัน และก้าวหน้าสูงขึ้นคือ จากลูกเสือสำรอง ลูกเสือสามัญ ลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่ และจนถึงลูกเสือวิสามัญ
6.5 ระบบหมู่ ฝึกความรับผิดชอบ การเป็นผู้นำผู้ตาม การปกครองระบอบประชาธิปไตย กล่าวถึงในการฝึกอบรมลูกเสือ มีการแบ่งลูกเสือออกเป็นกอง แต่ละกองแบ่งออกเป็นหมู่ หมู่ลูกเสือเป็นหน่วยสำคัญในการดำเนินงานของลูกเสือ ไม่ว่าสำหรับงาน หรือการเล่น และไม่ว่าจะเป็นเรื่องวินัย หรือหน้าที่การแต่งตั้งนายหมู่และรองนายหมู่ให้มีหน้าที่รับผิดชอบในการบังคับบัญชาหมู่ของตนเอง เป็นเรื่องของนายหมู่ที่จะต้องควบคุมและพัฒนาคุณลักษณะของลูกหมู่ของตนแต่ละคนโดยมีรองนายหมู่เป็นผู้ช่วย การแบ่งลูกเสือออกเป็นหมู่ ๆ ก็เพื่อสะดวกและเพื่อให้นายหมู่ลูกเสือได้มีหน้าที่รับผิดชอบในการดำเนินงานตามระบบหมู่ นายหมู่มีหน้าที่วางแผนปฏิบัติกิจกรรมของหมู่ ทั้งการไปอยู่ค่ายพักแรม โดยมีรองนายหมู่เป็นผู้ช่วย และผู้กำกับลูกเสือเป็นผู้ให้คำแนะนำ นอกจากนั้นนายหมู่และผู้กำกับ ยังมาประชุมพร้อมกันเป็นครั้งคราวในที่ประชุมนายหมู่ ที่ประชุมจะต้องรับผิดชอบในการรักษาเกียรติของกองลูกเสือของตน กับจะต้องพิจารณาแผนปฏิบัติงานและกิจกรรมต่าง ๆ
6.6 ระบบเครื่องหมายวิชาพิเศษ ลูกเสือทุกคนจะได้รับการฝึกอบรมตามวิธีการของลูกเสือ และเมื่อผ่านการทดสอบตามที่กำหนดไว้จะได้รับเครื่องหมายซึ่งนำมาติดเครื่องแบบ เป็นการเชิดชูเกียรติ และแสดงสมรรถภาพของตนส่วนหนึ่ง เครื่องหมายวิชาพิเศษมีมากมาย เช่น วิชาผจญภัย เดินทางไกล ดาราศาสตร์ บุกเบิก สูทกรรม สะกดรอย ฯลฯ
6.7 กิจกรรมกลางแจ้ง ในการฝึกอบรมลูกเสือทุกประเภท ถือว่ากิจกรรมกลางแจ้งเป็นเรื่องสำคัญ และควรได้รับการส่งเสริมให้มากเท่าที่สามารถจะทำได้ ทั้งนี้เป็นการส่งเสริมสุขภาพของลูกเสือด้วย ในการฝึกอบรมลูกเสือ บางครั้งจะต้องกระทำภายในอาคาร แต่กิจกรรมเช่นเดียวกัน ถ้าได้กระทำกลางแจ้ง เช่น ในสนาม ทุ่งนา ในป่า หรือสวนสาธารณะ ก็จะเป็นการดี การเดินทางไกลและอยู่ค่ายพักแรมเป็นหัวใจของการฝึกอบรมลูกเสือเพราะมีวัตถุประสงค์เพื่อฝึกให้ลูกเสือมีความอดทน อยู่ในระเบียบวินัย รู้จักช่วยตัวเอง รู้จักอยู่และทำงานร่วมกับผู้อื่น ตลอดจนมีโอกาสได้เรียนรู้และเข้าใจวิชาลูกเสืออย่างแจ่มแจ้งด้วยการปฏิบัติจริง นอกจากนี้กิจกรรมที่ท้าทายลูกเสือ เช่น การผจญภัย การบุกเบิก การเดินทางสำรวจ ฯลฯ ก็เป็นกิจกรรมที่ลูกเสือทุกคนควรเข้าร่วมตามโอกาส
6.8 การเล่น (เกมต่าง ๆ) เกมหรือการเล่นของลูกเสือ เป็นอุปกรณ์สำคัญในการฝึกอบรมลูกเสือ ทั้งในทางจิตใจและในการบริหารร่างกาย เกมช่วยพัฒนาเด็กในเรื่องนิสัยใจคอ อารมณ์ น้ำใจนักกีฬา การรักหมู่ รักคณะ ความอดทน ระเบียบวินัย และความไม่เห็นแก่ตัว
6.9 การร้องเพลง วิธีการฝึกอบรมลูกเสือที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ การร้องเพลง และการชุมนุมรอบกองไฟ การร้องเพลงใช้ในโอกาสต่าง ๆ เพื่อเป็นการปลุกใจ คลายอารมณ์ หรือก่อให้เกิดความร่าเริง บันเทิงใจ ส่วนการชุมนุมรอบกองไฟกระทำในตอนกลางคืนในระหว่างที่ลูกเสือเดินทางไกลไปอยู่ค่ายพักแรมทุกครั้งที่มีการชุมนุมรอบกองไฟจะต้องมีการร้องเพลงนำ เพลงสลับการแสดง และเพลงส่งท้าย การร้องเพลงของลูกเสือส่วนใหญ่เป็นการร้องเพลงหมู่ หรือร้องพร้อมกัน เพื่อเป็นการส่งเสริมความสามัคคี และช่วยเด็กที่ไม่มีนิสัยในการร้องเพลงให้กล้าร้องเพลงยิ่งขึ้น การร้องเพลงเดี่ยวโดยปกติไม่กระทำกันบ่อยนัก นอกจากผู้ร้องจะสามารถร้องเพลงได้เป็นอย่างดี หรือในโอกาสพิเศษ

7. หลักการสำคัญของการลูกเสือ ขบวนการลูกเสือ เป็นขบวนการเดียวที่มีสมาชิกมากที่สุด คือ มีประเทศที่เป็นสมาชิกประมาณ 172 ประเทศ จำนวนลูกเสือประมาณ 57 ล้านคน เป็นขบวนการที่ยืนยงวัฒนาถาวร ทั้งนี้เพราะมีหลักการที่ควรแก่การยกย่องเลื่อมใสอยู่ 8 ประการคือ
7.1 หน้าที่ต่อพระเจ้า/ศาสนาสมาชิกทุกคนพึงนับถือศาสนา และปฏิบัติหน้าที่ของตนในทางศาสนาด้วยความซื่อสัตย์ ถ้าในกลุ่มมีสมาชิกที่นับถือศาสนาเดียวกัน ให้เป็นหน้าที่ของผู้กำกับลูกเสือ ที่จะปรึกษาหารือกับคณะบุคคลที่เป็นผู้อุปการะ เพื่อจัดให้มีการปฏิบัติและสอนในเรื่องศาสนาอย่างเหมาะสม ถ้าในกลุ่มมีสมาชิกที่นับถือศาสนาต่างกัน ให้เป็นหน้าที่ของผู้กำกับลูกเสือที่จะปรึกษา หารือกับคณะบุคคลผู้อุปการะเพื่อยั่วยุให้สมาชิกไปประกอบพิธีตามลัทธิศาสนาของตนในระหว่างที่อยู่ค่าย การสวดมนต์ ประจำวัน และการประกอบพิธีทางศาสนาประจำสัปดาห์ ควรอยู่ในลักษณะที่ง่ายที่สุด และให้เป็นไปด้วยความสมัครใจ ห้ามมิให้มีการบังคับให้ลูกเสือไปร่วมพิธีศาสนาอื่นนอกจากศาสนาของตน ฉะนั้นประเทศปกครอง ระบบคอมมิวนิสต์ จึงไม่มีกิจการลูกเสือ
7.2 ความจงรักภักดีต่อประเทศชาติของตนเรื่องนี้สำคัญมาก และได้เน้นไว้ในคำปฏิญาณของลูกเสือ ข้อ 1 “ข้าจะจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์” และในกฎของลูกเสือข้อ 2 “ลูกเสือมีความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และซื่อตรงต่อผู้มีพระคุณ” ความจงรักภักดีเป็นหลักสำคัญที่สุดประการหนึ่งของอัศวินเขาจะมีความจงรักภักดีอย่างแน่นแฟ้น ต่อพระมหากษัตริย์ เขาพร้อมและกระตือรือร้นอยู่เสมอ ที่จะสละชีวิตเพื่อป้องกันประเทศชาติบ้านเมืองของเขา เขาเป็นบุคคลมีเกียรติและมีน้ำใจเป็นลูกผู้ชาย ในฐานะเป็นพลเมืองดี ลูกเสือจะต้องระลึกเสมอว่า เราเป็นคนหนึ่งในชุด หรือเป็น “อิฐก้อนหนึ่งในกำแพง” เราจะต้องทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด และซื่อตรงกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรา เช่น พ่อ แม่ พี่น้อง นายจ้าง หรือลูกจ้างของเรา เราต้องไม่ทำลายเกียรติของเราด้วยการกระทำอย่างไม่ซื่อ นอกจากนั้น เราต้องไม่ทำให้ผู้ที่ไว้วางใจเรา ไม่ว่าชายหรือหญิงต้องผิดหวัง บรรพบุรุษของเราได้ทำงานด้วยความเข้มแข็ง รบด้วยความทรหด และตายด้วยความองอาจเพื่อรักษาบ้านเมืองไว้ให้เรา อย่าให้บรรพบุรุษของเรามองลงมาจากสวรรค์ เห็นเราเที่ยวเตร่ เอามือใส่กระเป๋า โดยไม่ทำประโยชน์อะไรเพื่อบ้านเมืองเลย จงแสดงบทบาทของเราแต่ละคนตามตำแหน่งของตนและกระทำด้วยน้ำใจนักกีฬา
7.3 ความศรัทธาในมิตรภาพและความเป็นพี่น้องของลูกเสือทั่วโลก สัญลักษณ์ของลูกเสือทั่วโลก คือ คติพจน์ การแสดงความเคารพแบบลูกเสือ การแสดงรหัสของลูกเสือ และการจับมือซ้าย ความแตกต่างที่สำคัญระหว่างคนที่อยู่กลางแจ้ง และคนที่อยู่ในเมือง คือ “คนที่อยู่กลางแจ้งเหลือแต่เสื้อชั้นใน ส่วนคนที่อยู่ในเมืองสวมเสื้อกลัดกระดุม คนอยู่กลางแจ้งเป็นคนเปิดเผย ร่าเริง เป็นกันเองกับคนอื่นได้ทันที ส่วนคนที่อยู่ในเมือง มักจะเก็บตัวจากเพื่อนบ้านอยู่ภายในเสื้อของเขา และต้องมีการดึงออกมาเป็นการใหญ่ จึงจะกลายเป็นกันเอง” จงจำไว้ว่าลูกเสือมิใช่แต่จะเป็นเพื่อนกับบุคคลรอบตัวเราแต่ยังเป็น “เพื่อนของคนทั่วโลก” ผู้เป็นเพื่อนย่อมไม่รบราฆ่าฟันกันเอง และเป็นวิธีการที่ดีที่สุดในการป้องกันสงครามในอนาคตและทำให้เชื่อแน่ว่าจะก่อให้เกิดสันติภาพถาวร จงนึกว่า โลกนี้คือบ้าน ความงามของจักรวาลคือเครื่องเรือน แสงดาวและแสงเดือนคือโคมไฟพี่น้องชายหญิงคือเพื่อนมนุษย์ ความผูกพันที่ตราตรึงที่สุดคือเมตตาและน้ำใจความยิ่งใหญ่คือคุณงามความดี ความมีศักดิ์ศรีคือการทำงานอย่างเคร่งครัดความซื่อสัตย์คือ “มงกุฎ” ความน่ากลัวที่สุดคือ “สงคราม” ในฐานะเป็นลูกเสือ เราจะต้องยอมรับรู้ว่าคนอื่นเป็นเพื่อนมนุษย์ และเราต้องไม่รังเกียจความแตกต่างในเรื่องของความคิด วรรณะ ศาสนา หรือชาติบ้านเมือง เราต้องขจัดอคติของเราและมองหาจุดดีของคนอื่น คือ มองคนในแง่ดี ส่วนจุดชั่วนั้น คนโง่ก็ย่อมวิจารณ์ได้ ถ้าเราแสดงไมตรีจิตต่อคนชาติอื่นได้เช่นนี้ ก็นับว่าเราได้ช่วยก่อให้เกิดสันติภาพและไมตรีจิตระหว่างประเทศและมวลมนุษย์ชาติได้
7.4 การบำเพ็ญประโยชน์ต่อผู้อื่นพลเมืองดีคือ บุคคลที่มีคุณลักษณะดังนี้
1. มีเกียรติเชื่อถือได้
2. สามารถบังคับใจตนเอง
3. สามารถพึ่งตนเอง
4. เต็มใจและสามารถที่จะบำเพ็ญประโยชน์ต่อผู้อื่นตลอดจนชุมชน อัศวินเขาจะพยายามให้ความเมตตากรุณา เพื่อบำเพ็ญประโยชน์ต่อประชาชนอยู่เสมอ ความคิดของเขามีว่า คนทุกคนต้องตาย แต่เราควรจะทำใจของเราว่า ก่อนเวลาจากโลกนี้ไปตามาวิถีทางของธรรมชาติ เราควรทำความดีบ้าง
ฉะนั้น จงทำทันที เพราะเราไม่รู้เลยว่าเมื่อใดเราจะต้องล่วงลับไปอนิจจังสังขารพระท่านกล่าว มิยืนยาวชีวิตสิ้นสลายทั่วสิ่งสรรพดับขันธ์ในบั้นปลาย ทุกรูปกายตายลงเป็นผงคลีอย่าแบ่งชั้นวรรณะเลยมนุษย์ ต่างถึงจุดสุดท้ายกลายเป็นผีหลุมฝังศพกลบสิ้นซากอินทรีย์ ไพร่ผู้ดี มี จน ไม่พ้นตาย แต่ละวันในชีวิตของเราควรพยายามทำอะไรที่ดีบ้าง จงเริ่มเสียวันนี้ในการปฏิบัติตามกฎ “โอ้ลูกเสือ ลูกเสือเกิดมาทั้งที จงทำดี ทำดีก่อนตาย” ลูกเสือมีจุดมุ่งหมายสูงสุด คือ “บริการ” บริการจะทำได้ดีที่สุด เราต้อง “เตรียมพร้อม” และจะต้อง “มองไกล” และประการสุดท้าย เราจะต้อง “ทำดีที่สุด” นี่คือ คติพจน์ของลูกเสือทั้งสี่ประเภท เราจะต้องยอมเสียสละเวลาและความสุขสบายส่วนตน เพื่อช่วยเหลือผู้อื่น ถึงแม้บางครั้งการช่วยเหลือนั้นจะไม่สะดวก หรือไม่เป็นที่พึงพอใจ หรือไม่เป็นที่ปลอดภัยก็ตาม
7.5 การยอมรับและปฏิบัติตามคำปฏิญาณและกฎของลูกเสือ คำว่า “ปฏิญาณ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ให้ความหมายไว้ว่า “การให้คำมั่นโดยสุจริต” และคำว่า “กฎ” มีความหมายว่า “คำบังคับ ข้อบังคับ” คำปฏิญาณและกฎของลูกเสือเปรียบเสมือนศีลของลูกเสือ ประเทศที่เป็นสมาชิกขององค์การลูกเสือโลก จะต้องกำหนดคำปฏิญาณและกฎของลูกเสือไว้ในภาษาของตนเอง โดยอนุโลมตามบทบัญญัติที่กล่าวไว้ในธรรมนูญของสมัชชาลูกเสือโลก คำปฏิญาณและกฎของลูกเสือ ทั้งถ้อยคำและหลักการ แฝงไว้ภายใต้กรอบระเบียบประเพณีและคุณธรรม คือ จะผลัก “ตนเอง” ออกแล้วดึงเอา “ไมตรีจิต” และความมี “น้ำใจ” ที่จะช่วยเหลือผู้อื่นเข้ามา จงอย่าเข้าใจว่าเรื่องนี้เป็นการสอนให้เป็นคนใจบุญสุนทาน แท้จริงเป็นการแนะนำให้ไปสู่ความเป็นลูกผู้ชาย เป็นคนที่ไม่เคยหันหลังกลับ แต่เดินตรงไปข้างหน้าไม่เคยเกรงว่า ฝนตก ไม่เคยฝันแม้ว่าธรรมะจะเป็นฝ่ายแพ้และอธรรมจะเป็นผู้ชนะ ถือหลักว่าเราล้มเพื่อลุกขึ้น จนแต้มเพื่อสู้ให้ดีขึ้น นอนหลับเพื่อตื่น
คนที่รู้จักรักษาเกียรติเป็นผู้เชื่อถือได้เสมอ เขาจะไม่กระทำสิ่งใดๆ ที่เสียเกียรติ เช่น พูดเท็จกับผู้บังคับบัญชา หรือนายจ้าง หรือผู้ใต้บังคับบัญชาของเขา และเขาจะทำตัวให้เป็นที่นับถือของคนทั่วไป ในฐานะที่เป็นลูกเสือ ต้องไม่ยอมให้สิ่งยั่วยวนใจ ไม่ว่าจะลึกลับ หรือรุนแรงเพียงไร มาชักจูงให้เรากระทำการใด ๆ ที่ไม่สุจริต หรือเป็นที่น่าสงสัย เราต้องไม่ละเมิดคำสั่นสัญญา คือ คำปฏิญาณ เป็นอันขาด ชาติพยัคฆ์รักลายหมายเชิดชู สมกำเนิดนาม “เสือ” คนเชื่อถือ ชาตรีรักศักดิ์ศรีฝากฝีมือ ให้โลกลือชื่อชายตราบวายปราณ เสือไว้ลายชายไว้ชื่อนี่คือศักดิ์ คนควรรักชื่อเสียงเยี่ยงไขขาน หากชั่วช้าราคินสิ้นเชื้อชาย โลกประจานว่าร้ายอาย “สัตว์” เอย
7.6 การเข้าเป็นสมาชิกด้วยความสมัครใจ การเป็นลูกเสือ ไม่มีการบังคับหรือขู่เข็ญให้ผู้หนึ่งผู้ใดเข้าเป็นสมาชิก ทั้งนี้อาจเปรียบได้กับการเป็นสมาชิกของสมาคมต่าง ๆ
7.7 ความเป็นอิสระต่ออิทธิพลทางการเมือง คณะลูกเสือมิใช่องค์การทางการเมือง ผู้ที่สวมเครื่องแบบลูกเสือก็ดี หรือผู้ที่ทำหน้าที่แทนคณะลูกเสือก็ดี จะต้องไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการประชุมหรือกิจกรรมทางการเมือง แต่อย่างหนึ่งอย่างใด นอกจากนี้คณะลูกเสือแห่งชาติไม่เป็นกระบวนการทางการเมือง และไม่ให้การสนับสนุนแก่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด พระราชบัญญัติลูกเสือแห่งชาติ กำหนดให้นายกรัฐมนตรีเป็นนายกสภาลูกเสือแห่งชาติ รองนายกรัฐมนตรีเป็นอุปนายก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นกรรมการสภาลูกเสือแห่งชาติ และยังกำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติด้วย
7.8 มีกำหนดการพิเศษสำหรับการฝึกอบรมโดยอาศัยสิ่งต่อไปนี้ – ระบบหมู่ – การทดสอบเป็นขั้น ๆ – เครื่องหมายวิชาพิเศษ – กิจกรรมกลางแจ้ง ความมุ่งหมายในการกำหนดให้นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นนักการเมือง มีตำแหน่งในวงการลูกเสือนั้น มิใช่ประสงค์ให้การลูกเสือเข้ายุ่งกับการเมือง แต่เพื่อให้คณะลูกเสือแห่งชาติได้รับความคุ้มครอง และการสนับสนุนจากการเมืองทุกฝ่าย ที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นรัฐบาล แนวการพัฒนาลูกเสือ 8 ประการ

การพัฒนาลูกเสือทั้ง 8 ประการนี้ มุ่งพัฒนาตามอุดมการณ์ วัตถุประสงค์และวิธีการของคณะลูกเสือแห่งชาติ โดยยึดคำปฏิญาณและกฎของลูกเสือเป็นแนวปฏิบัติ

1. ทางจิตใจ มุ่งพัฒนาให้ลูกเสือมีความเข้าใจในศาสนา มีความเชื่อมั่นในกฎแห่งกรรมและปฏิบัติ เช่น ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นต้น ยึดถือธรรมเป็นหลักประจำใจ และปฏิบัติตามคำสั่งสอนของศาสดา ก็จะได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่ปฏิบัติตามคำปฏิญาณที่ว่า มีความจงรักภักดีต่อศาสนา

2. ทางกาย การฝึกอบรมลูกเสือซึ่งอาศัยกิจกรรมเป็นหลัก โดยเฉพาะการอยู่ค่ายพักแรม การเดินทางสำรวจ กิจกรรมเสี่ยงภัย เช่น การปีนเขา การแล่นเรือใบ การเดินทางลอดถ้ำ เป็นต้น เป็นการส่งเสริมพัฒนาให้ร่างกายสมบูรณ์ มีพลานามัยดี เกิดทักษะในการดำรงชีพ

3. ทางสติปัญญา การได้รับการฝึกอบรมเกี่ยวกับกิจกรรม และเครื่องหมายวิชาพิเศษของลูกเสือด้วยความสนใจ เป็นการใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ นั่นคือ ลูกเสือมีงานอดิเรกทำ ก่อให้เกิดความเฉลียวฉลาด มีความสามารถในการคิดสร้างสรรค์

4. ค่านิยม การฝึกอบรมลูกเสือมุ่งพัฒนาลูกเสือให้เกิดค่านิยม ให้เป็นผู้มีความรับผิดชอบเป็นตัวของตัวเอง รู้จักระงับความตื่นเต้นกระเทือนใจเมื่อฝึกตนเองได้เช่นนี้ก็จะได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่ยึดคำปฏิญาณของลูกเสือที่ว่า “ด้วยเกียรติของข้า………” และเป็นผู้ปฏิบัติตามกฎลูกเสือข้อ 1 “ลูกเสือมีเกียรติเชื่อถือได้” นั่นคือ มีความเคารพในตนเอง มีความอดทน กล้าหาญ สังคมย่อมให้เกียรติและยกย่อง

5. ความสัมพันธ์ส่วนตัว กฎลูกเสือข้อ 1 “ความจงรักภักดี” ข้อ 4 “การเป็นมิตร” ข้อ 5 “การคารวะ” มุ่งที่จะพัฒนาให้ลูกเสือมีความสัมพันธ์ส่วนตัวกับเพื่อนโดยใช้ระบบหมู่ ซึ่งเป็นขบวนการหมู่พวก ทำให้เกิดความซาบซึ้งในมิตรภาพ การสัมพันธ์กับเพศตรงข้ามก็อาศัยการปฏิบัติกิจกรรมลูกเสือร่วมกับก่อให้เกิดความเข้าใจ เห็นอกเห็นใจผู้อื่น ส่วนการสัมพันธ์กับผู้กำกับลูกเสือหรือผู้ใหญ่อื่นนั้น ลูกเสือจะต้องมีสัมมาคารวะต่อผู้อาวุโสกว่าเรา

6. ความสัมพันธ์ทางสังคม ตามอุดมการณ์ของลูกเสือ มุ่งอบรมให้เป็นผู้สร้างสรรค์ในสังคมในคำปฏิญาณของลูกเสือข้อ 2 “ข้าจะช่วยเหลือผู้อื่นทุกเมื่อ” และในกฎลูกเสือข้อ 2 “ลูกเสือมีความจงรักภักดี” เหล่านี้ล้วนเป็นส่วนที่จะช่วยพัฒนาลูกเสือ ให้รู้จักมีความสัมพันธ์กับเพื่อน ครอบครัวทั้งจะก่อให้เกิดทักษะในการเป็นผู้นำที่ดีในอนาคต ทั้งนี้ต้องอาศัยระบบหมู่ กิจกรรมลูกเสือ และผู้ใหญ่ให้คำปรึกษาแนะนำ

7. ความรับผิดชอบต่อชุมชน ตามอุดมการณ์ของลูกเสือ มุ่งอบรมให้ลูกเสือรู้จักการสร้างสรรค์สังคม ในคำปฏิญาณข้อที่ 1 คือ ความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ และกฎของลูกเสือข้อที่ 4 คือ เป็นมิตรกับคนทุกคน ล้วนแต่เป็นการพัฒนาให้ลูกเสือให้มีความรับผิดชอบต่อท้องถิ่น ชาติ นานาชาติ คือ มีความรับผิดชอบต่อชุมชน แล้วขยายออกไปถึงส่วนรวม และประเทศชาติในที่สุด ซึ่งจะก่อให้เกิดสันติสุขแก่มวลมนุษย์ ทั้งยังเป็นการพัฒนาวิชาชีพของตนเองทั้งนี้ต้องมีผู้ใหญ่ให้คำปรึกษาและกิจกรรมที่เกี่ยวกับการบริการ

8. ความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม กฎลูกเสือข้อ 9 “ลูกเสือเป็นผู้มัธยัสถ์” นอกจากจะมุ่งอบรมให้ลูกเสือรู้จักประหยัดแล้ว ยังมีความมุ่งหมายให้ลูกเสือรู้จักระวังรักษาทรัพย์ สิ่งที่เป็น สาธารณสมบัติ คือ ให้รู้จักคุณค่าของเงิน และพัฒนาจากการรู้จักรักษาของใช้ของตน ของส่วนรวม ธรรมชาติและการสงวนทรัพยากร ฯลฯ

ดังกล่าวมานี้ แนวการพัฒนาลูกเสือ 8 ประการนี้ เป็นแนวการส่งเสริมความเจริญเติบโตบุคคลโดยการลูกเสือ นั่นคือ การส่งเสริมความเจริญเติบโตส่วนบุคคลในด้านต่าง ๆ ดังนี้
1. การพัฒนาทางกาย
2. การพัฒนาทางสติปัญญา
3. การพัฒนาทางจิตใจและศีลธรรม
4. การสร้างค่านิยมและเจตคติ
5. การพัฒนาทางสัมพันธภาพระหว่างบุคคล
6. การพัฒนาทางสัมพันธภาพทางสังคม
7. การพัฒนาทางสัมพันธภาพต่อสังคม ด้วยการบริการชุมชน และการพัฒนาชุมชน
8. การพัฒนาทางด้านความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม

เราได้อะไรจากการลูกเสือ
1. ผจญภัย (Adventure) ได้แก่ การเรียนรู้เรื่องใหม่ ๆ ที่ตื่นเต้น และไม่คาดฝันมาก่อน
2. ได้เพื่อน (Comradeship) ได้แก่ การที่มีเด็กอื่นเป็นเพื่อน
3. เถื่อนธาร (The Outdoor World) ได้แก่ โลกภายนอก ประกอบด้วยป่า เขา ลำธาร ทุ่งนา
4. การสนุก (Good Fun) ได้แก่ ความสนุกสนานประกอบกิจกรรมต่าง ๆ
5. สุขสม (A feeling of Achievement) ได้แก่ความรู้สึกภูมิใจในการที่ตนได้ทำงานอย่างหนึ่งอย่างใดจนประสบ ความสำเร็จ

ประโยชน์ของการลูกเสือ
1. เป็นการศึกษานอกแบบ
2. ช่วยเสริมการศึกษาในโรงเรียนในด้าน- ความประพฤติ นิสัยใจคอ สติปัญญา- ความมีระเบียบวินัย- สุภาพ และพลัง- การฝีมือ ทักษะ- หน้าที่พลเมือง และการบำเพ็ญประโยชน์ต่อผู้อื่น

พลเมืองดีในทัศนะของการลูกเสือ
1. มีความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2. มีเกียรติเชื่อถือได้
3. มีระเบียบวินัย สามารถบังคับใจตนเองได้
4. สามารถพึ่งตนเองได้5 เต็มใจและก็สามารถช่วยเหลือชุมชน และบำเพ็ญประโยชน์ต่อผู้อื่นได้ทุกเมื่อ

กิจการลูกเสือต้องการอะไร
1. ต้องการเยาวชนมาสมัครเป็นลูกเสือมากขึ้น (พลเมืองดีมีคุณภาพขึ้น)
2. ต้องการผู้บังคับบัญชาที่มีสมรรถภาพในการฝึกอบรม
3. ต้องการเงินเพียงพอ เพื่อนำมาใช้ในการฝึกอบรมและบริหารกิจการลูกเสือ

กิจการลูกเสือจะวัฒนาถาวร ถ้าเราได้ช่วยกันทำกิจกรรมลูกเสือให้เป็น
1. แหล่งเสริมการศึกษาให้แก่ลูกเสือ
2. แหล่งที่มีประโยชน์ต่อสังคม
3. แหล่งที่ทันสมัยอยู่เสมอ

ปัจจัยที่จะสนับสนุนให้กิจการลูกเสือมั่นคง
1. เจ้าหน้าที่ลูกเสือประจำ (อาชีพ) มีสมรรถภาพ
2. เจ้าหน้าที่ลูกเสืออาสาสมัครมาช่วยกิจการลูกเสือ3 การเงินเพียงพอ

ที่มา : Sommart Sungkapun

Loading

Message us