อย่างที่ได้ทราบกันแล้วว่า กิจการลูกเสือได้ก่อตั้งโดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระผู้พระราชทานกำเนิดกิจการเสือป่าและลูกเสือไทย ในที่นี้จะกล่าวถึงบทบาทของพระมหากษัตริย์กับการลูกเสือของประเทศไทย ซึ่งได้จากพระบรมราโชวาทที่ได้ทรงพระราชทานแก่ลูกเสือในโอกาสต่าง ๆ ดังนี้
รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวพระบรมราโชวาทที่ได้พระราชทานนั้นล้วนมีคุณค่ายิ่งในการสั่งสอนและปลุกใจลูกเสือทั้งหลาย จากที่มีโอกาสได้พบพระบรมราโชวาท ซึ่งเป็นครั้งสุดท้ายของพระองค์ท่าน คือ ในคราวพระราชทานธงประจำกองลูกเสือให้แก่กองลูกเสือมณฑลราชบุรี เมื่อ พ.ศ. 2467 ได้พระราชทานพระบรมราโชวาท ดังนี้
“ในการที่เราให้ธงนี้แก่กองลูกเสือ ย่อมเป็นพยานว่า เราได้เอาใจใส่ในการลูกเสือในกรุงสยามเสมอ เพราะธงนี้เป็นเครื่องหมายแทนตัวเราและเป็นพยานว่าคณะลูกเสือราชบุรียังกระทำหน้าที่อย่างลูกเสือ ตามข้อบังคับคำมั่นสัญญาที่ได้ปฏิญาณไว้อย่างแข็งแรง ขอให้เจ้าจำคำมั่นสัญญานั้นไว้ เมื่อถึงคราวจะได้ทำตนให้เป็นประโยชน์แก่ชาติศาสนาพระมหากษัตริย์ และรักษาธงนี้ไว้เป็นเกียรติยศแก่กองลูกเสือมณฑลราชบุรีชั่วกาลนาน ในที่สุดเราขออวยพรให้กองลูกเสือมณฑลราชบุรีจงมีความเจริญยิ่ง ๆ ขึ้นสืบไป และขอให้ลูกเสือทั้งหลายจงมีความผาสุกตลอดทั่วกันเทอญ”
รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7
เมื่อสิ้นรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้ว กิจการเสือป่าก็ได้สิ้นสภาพตามพระองค์ท่านไปด้วยโดยปริยาย แต่ในส่วนการลูกเสือนั้น ยังปรากฏว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ใหม่ คือพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น ยังทรงเอาพระราชหฤทัยใส่ทำนุบำรุงเป็นอันดีตลอดมา อันเป็นผลให้กิจการลูกเสือในรัชกาลพระองค์นี้ได้เจริญก้าวหน้าออกไปพอสมควร เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จสวรรคต จึงทำให้ตำแหน่งสภานายกสภากรรมการจัดการลูกเสือว่างลง คณะกรรมการสภากรรมการกลางจัดการลูกเสือ จึงได้ตกลงมอบฉันทะให้พระยาไพศาลศิลปศาสตร์ อุปนายกสภากรรมการกลางในขณะนั้น นำความขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ขออัญเชิญให้ทรงรับตำแหน่งสภานายกสภากรรมการกลางจัดการลูกเสือแห่งสยาม สืบแทนต่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และขอให้ทรงรับคณะลูกเสือแห่งชาติเข้าไว้ในพระราชูปถัมภ์ต่อไปด้วย ทั้งนี้เพื่อความเจริญวัฒนาถาวรของการลูกเสือสืบไป เมื่อความทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว ก็ปรากฏว่าได้รับพระมหากรุณาธิคุณสมดังความปรารถนาทุกประการ โดยได้พระราชทาน พระราชกระแสลงมาว่า ทรงมีพระราชหฤทัยยินดีที่จะรับตำแหน่งเป็นสภานายกสภากรรมการกลางจัดการลูกเสือแห่งชาติ ตามที่กราบบังคบทูลขอพระราชทานไป จึงก่อให้เกิดความปิติยินดีเป็นล้นพ้นแก่คณะลูกเสือไทยทั่วหน้า ทั้งนี้ ได้มีพระบรมราโชวาทที่ได้พระราชทานแก่ลูกเสือในโอกาสทรงรับคณะลูกเสือแห่งชาติเข้าไว้ในพระราชูปถัมภ์นั้น มาแสดงไว้เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งพระองค์ท่าน ดังนี้
“…พระราชดำริของพระบรมเชษฐาในเรื่องนี้ นับว่าเป็นประโยชน์ที่สุดสำหรับบ้านเมือง และนับว่าเป็นพระมหากรุณาโดยเฉเพาะโดยตรงสำหรับเด็กไทยทุกคน ตามธรรมดา เด็ก ๆ ที่จะเรียนแต่วิชาหนังสือเท่านั้นไม่พอ ถ้าจะเรียนแต่วิชาหนังสือก็ตรงสุภาษิตโบราณที่ว่า “วิชาท่วมหัวเอาตัวไม่รอด”
เราต้องฝึกหัดอย่างอื่นด้วย คือเราต้องฝึกหัดทั้งกาย วาจา ใจของเรา ต้องฝึกหัดให้มีกำลังกายแข็งแรงอดทน สามารถทนความตรากตรำต่อไปภายหน้าได้ เราย่อมรู้อยู่ทุกคนว่า เมื่อเราโตขึ้นแล้วจะต้องทำการงาน ย่อมจะต้องทนตรากตรำบ้างเป็นครั้งคราวเสมอ เพราะฉะนั้นเราต้องเตรียมตัวต้องฝึกหัดไว้ตั้งแต่เล็ก ๆ จึงจะได้และต่อไปเมื่อถึงเวลาจะรับราชการสำหรับรักษาบ้านเมืองเป็นต้น เราก็จะพร้อมอยู่เสมอที่จะทำได้ทันที เพราะมีกำลังแข็งแรงอยู่แล้ว เราต้องฝึกหัดวาจาให้อ่อนหวาน ไม่พูดจามุสาวาท เพราะทำเช่นนั้นแล้วจึงจะเข้าสมาคมกับเพื่อนฝูงได้ ตลอดจนเมื่อจะทำราชการหรือค้าขายก็ดี ความสัตย์ย่อมเป็นของสำคัญที่สุด วาจาอ่อนหวานย่อมนำประโยชน์มาให้เรามากที่สุด นอกจากนี้เราต้องฝึกหัดใจของเราอีก ต้องเป็น ผู้ซื่อตรงต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ต้องซื่อตรงต่อเพื่อนฝูงของเราด้วยจึงจะได้ เมื่อได้ฝึกฝนอย่างนี้จะทำมาหากินหรือจะรับราชการ หรือจะทำอะไรย่อมเป็นประโยชน์ทั้งสิ้น โอกาสที่เด็กไทยจะได้ฝึกฝนใน 3 อย่างนี้ ย่อมจะได้รับโดยดีที่สุดเมื่อได้เป็นลูกเสือ…ตราบกระทั่งได้เกิดปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองขึ้น เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 การลูกเสือจึงได้ชะงักลงชั่วระยะเวลาหนึ่ง และพ้นจากพระราชภาระของพระองค์ไปนับแต่นั้นมา
รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8
เนื่องจากในขณะที่ทรงขึ้นครองราชย์สมบัตินั้น พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล เพิ่งมีพระชนมายุได้ 9 พรรษา และกำลังประทับศึกษาวิชาการอยู่ ณ ต่างประเทศ จึงต้องมีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์อยู่ตลอดเวลา การลูกเสือยุคใหม่ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยนี้อยู่ในภาระของรัฐบาลโดยตรง จึงทำให้พระมหากษัตริย์มิค่อยได้ทรงมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์ความเจริญรุ่งเรืองให้แก่การลูกเสือเหมือนดังที่เคยเป็นมาในกาลก่อน ความคับขันภายในและภายนอกประเทศ ได้เป็นเครื่องบั่นทอนความก้าวหน้าแห่งกิจการลูกเสืออย่างสำคัญ ทำให้รัฐบาลและวงการทั่วไปในขณะนั้นหันความสนใจไปทางด้านอื่น เช่นในเรื่องอันเนื่องด้วยการทหารและการป้องกันประเทศโดยหมดสิ้น ได้แก่ การที่รัฐบาลได้จัดตั้งยุวชนทหารซ้อนขึ้นอีกหน่วยหนึ่ง เป็นการฝึกเยาวชนในทางทหารอย่างแท้จริง โดยที่กิจการยุวชนทหารเป็นของใหม่และรัฐบาลได้ตั้งหน้าทะนุบำรุงอย่างจริงจังทำให้ยุวชนทหารได้เจริญเติบโตขึ้นมาแทนที่การลูกเสืออย่างรวดเร็ว ยังผลให้การลูกเสือต้องประสบกับความเสื่อมโทรมลงไปทุกขณะ ไม่มีบุคคลสำคัญของบ้านเมืองคนใด ได้เหลียวแลหรือคิดที่จะทะนุบำรุงให้รุ่งเรืองขึ้นมาอีก จนในที่สุดก็ถึงกับถูกยุบลงไป กลายเป็นส่วนหนึ่งขององค์การยุวชนแห่งชาติ ในโอกาสแห่งการเสด็จนิวัติสู่พระนครของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ผู้ทรงดำรงตำแหน่งสภานายกสภากรรมการกลางจัดการลูกเสือแห่งชาติในขณะนั้น
เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2481 คณะลูกเสือแห่งชาติทั้งฝ่ายเสนาและสมุทรเสนาต่างก็มีโอกาสถวายความจงรักภักดีในวาระนั้นหลายสิ่งหลายประการด้วยกัน เช่น ได้จัดทูลเกล้า ฯ ถวายเครื่องฉลองพระองค์ตำแหน่งสภานายกสภากรรมการกลาง ฯ ไว้ทั้งเหล่าเสนาและสมุทรเสนา ในโอกาสที่มีการแข่งขันกรีฑาประจำปี พ.ศ. 2481 ของกระทรวงธรรมการอันเป็นครั้งแรกที่ได้จัดให้มีขึ้น ณ กรีฑาสถานแห่งชาติ และประจวบกับที่ทางสภากรรมการจัดการลูกเสือแห่งชาติในเวลานั้นดำริจะทดลองสมรรถภาพของลูกเสือเป็นครั้งแรก โดยจัดการแข่งขันวิชาลูกเสือชิงรางวัลพระราชทาน และเป็นครั้งแรกที่สมเด็จองค์สภานายก ฯ จะได้เสด็จพระราชดำเนินมาทอดพระเนตรงานนี้ด้วย จึงเป็นศุภนิมิตอันอุดมมงคลของการลูกเสือวาระหนึ่ง สภากรรมการจัดการลูกเสือแห่งชาติจึงกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณ ให้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานธงประจำกองแก่บรรดาจังหวัดต่าง ๆ ที่ส่งลูกเสือเข้ามาแข่งขันวิชาลูกเสือครั้งนี้ด้วย ปรากฏว่าทรงพระกรุณาตอบรับคำกราบบังคมทูลเป็นอันดี ภายหลังที่ได้พระราชทานธงประจำกองลูกเสือแก่คณะลูกเสือจังหวัดพระนคร ธนบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี นครปฐม นนทบุรี พระนครศรีอยุธยา และราชบุรี ได้ทรงมีพระราชดำรัสแก่นักกีฬาและลูกเสือ ดังนี้
“นักกีฬา และลูกเสือทั้งหลาย ข้าพเจ้ามีความยินดีมาก ที่ได้มาในงานของท่าน กีฬาเป็นสิ่งดี ข้าพเจ้าชอบมาก ขอให้ท่านทั้งหลายเอาใจใส่อยู่เสมอ และขอให้มีความสุขสบายทั่วกัน”
รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9
เมื่อเริ่มรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชนั้น เป็นระยะเวลาที่มหาสงครามของโลก ครั้งที่สองเพิ่งจะสงบลงพอดี จากการนี้เองทำให้กิจการลูกเสือในหลายต่อหลายประเทศที่ได้สงบซบเซาไปเป็นเวลาช้านานได้กลับฟื้นคืนชีวิตขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่การลูกเสือได้ชะงักไปชั่วระยะหนึ่งโดยที่ลูกเสือได้สลายตัวไปรวมกับองค์การยุวชนแห่งชาติ เมื่อปี พ.ศ. 2486 พอถึงในปี พ.ศ. 2490 กิจการลูกเสือได้ถูกรื้อฟื้นให้คืนคงสถานะเดิมขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง เป็นผลให้การลูกเสือในประเทศไทยได้เริ่มต้นเคลื่อนไหวเข้มแข็งขึ้นมาใหม่ พระองค์ทรงสนพระราชหฤทัยในการลูกเสือทั้งลูกเสือสากลและลูกเสือชาวบ้าน ทรงเข้าพระราชหฤทัยในหลักจิตวิทยาพฤติกรรมมนุษย์และจิตวิทยาสังคมอย่างลึกซึ้ง ทรงเล็งเห็นว่ากิจกรรมลูกเสือนั้นสามารถพัฒนาคนให้เป็นคนดีมีคุณธรรม เพื่อเป็นพลเมืองดีของประเทศชาติได้อย่างดียิ่ง พระองค์ทรงให้กำลังใจ และส่งเสริมกิจกรรมลูกเสือทุกชนิดมาโดยตลอด ทรงเป็นองค์ประธานในงานลูกเสือแห่งชาติ โดยทรงเครื่องแบบลูกเสือชุดฝึก (พระสนับเพลาขาสั้น) พระราชทานพระมหากรุณากำหนดให้วันที่ 1 กรกฎาคม ของทุก ๆ ปีเป็นวันเฉลิมฉลองวันสถาปนาคณะลูกเสือแห่งชาติ พระราชทานพระราชดำริให้มีลูกเสือชาวบ้าน โดยที่พระองค์ทรงเล็งเห็นว่าประชาชนชาวบ้านที่ไม่มีโอกาสศึกษาเล่าเรียนหรือเว้นว่างจากการเรียนควรได้เข้าร่วมกิจกรรมที่แสดงถึงความรัก ความสามัคคี การอาสาป้องกันชาติ โดยใช้กิจกรรมลูกเสือเป็นสื่อ เพราะกิจกรรมลูกเสือเป็นกิจกรรมที่พัฒนาทั้งสุขภาพของกาย จิตใจ และสังคมได้เป็นอย่างดี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำรัสเกี่ยวกับการจัดการลูกเสือที่สำคัญหลายประการ เช่น ไม่มีพระราชประสงค์ให้กิจการลูกเสือชาวบ้านเกี่ยวข้องกับการเมือง มีพระราชประสงค์ให้ชาวบ้านควบคุมกันเอง ส่งเสริมระบบการมีผู้นำผู้ตามในชุมชน เป็นการฝึกประชาธิปไตยที่แยบยลอย่างยิ่ง ไม่ให้ดำเนินการใด ๆ ที่เป็นการสิ้นเปลือง เป็นต้น ทรงมอบธงประจำรุ่นให้แก่ลูกเสือชาวบ้านทุกแห่งหนในประเทศไทย ซึ่งเป็นพระราชจริยวัตรของผู้นำ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันได้ทรงมีพระบรมราโชวาทในวันเปิดงานชุมนุมลูกเสือแห่งชาติ ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2497 ความว่า
“ …ข้าพเจ้าตระหนักในความสำคัญและประโยชน์ของการลูกเสือเป็นอย่างมาก ทั้งมีความชื่นชมยินดีที่ได้ฟังคำกล่าวขวัญถึงพระราชกรณียกิจและความเสียสละที่ลูกเสือต่างได้บำเพ็ญในการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ในคราวประสบภัยมาเนื่อง ๆ แต่ประโยชน์อันยิ่งใหญ่ของ การลูกเสือนั้นย่อมได้แก่ตัวยุวชน ผู้เป็นลูกเสือเองที่ได้รับการฝึกฝนอบรมให้เป็นผู้เสียสละตัวเองพึ่งตนเอง ทำอะไรได้เอง มีความแข็งแกร่ง สามารถเผชิญชีวิตในอนาคตทุกวิถีทางรวมความจำเพื่อเป็นพลเมืองดี เป็นประโยชน์แก่ตนเองและเพื่อนมนุษย์นั่นเอง…”
และในวันสุดท้ายของการชุมนุมได้มีการกระทำพิธีตรวจพลทบทวนคำปฏิญาณของลูกเสือและสวนสนาม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนิน ทรงเป็นประธานในพิธีในโอกาสนั้นและได้พระราชพระบรมราโชวาท แก่คณะลูกเสือ ดังต่อไปนี้
“…ข้าพเจ้าขอถือโอกาสเตือนลูกเสือทั้งหลายว่าจงยึดมั่นในคำขวัญของลูกเสือที่ว่า “เสียชีพอย่าเสียสัตย์” หมายความว่าเมื่อได้ให้คำมั่นสัญญาไว้ว่าจะทำอย่างไรแล้ว ต้องทำเหมือนปากพูดทุกอย่าง ในเรื่องนี้ข้าพเจ้าใคร่ขอย้ำว่า ขอให้ลูกเสือทุกคนจงสำนึกมั่นอยู่ในเกียรติและหน้าที่ และจงเป็นพลเมืองดีของชาติ กล่าวคือจะต้องเป็นผู้ประกอบด้วยศีลธรรม จรรยา มารยาทอันดีงาม เป็นผู้ที่มีสุขภาพและอนามัยสมบูรณ์ มีความรู้ความสามารถในการงาน และรู้จักการเสียสละที่จะบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น ตลอดจนประเทศชาติของตน จงจำไว้ว่าอนาคตของชาติจะเจริญหรือไม่นั้น ย่อมขึ้นอยู่กับเยาวชนเช่นท่านทั้งหลายนี้ ซึ่งจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในวันข้างหน้า…”
จากที่กล่าวมาข้างต้นจะเห็นได้พระมหากษัตริย์ทรงมีบทบาทสำคัญต่อกิจการลูกเสือ ทรงเล็งเห็นว่า กิจการลูกเสือ สอนให้เด็กมีความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ รู้จักบำเพ็ญประโยชน์ต่อผู้อื่น และปฏิบัติตามคำปฏิญาณและกฎของลูกเสือ ซึ่งตรงกับมาตรา ๘คณะลูกเสือแห่งชาติมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาลูกเสือทั้งทางกาย สติปัญญา จิตใจ และศีลธรรม ให้เป็นพลเมืองดี มีความรับผิดชอบ และช่วยสร้างสรรค์สังคมให้เกิดความสามัคคี และมีความเจริญก้าวหน้า ทั้งนี้ เพื่อความสงบสุขและความมั่นคงของประเทศชาติ สอดคล้องกับพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ กล่าวว่า การจัดการศึกษาต้องเป็นไปเพื่อพัฒนาคนไทยให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งร่างกาย จิตใจ สติปัญญา ความรู้ และคุณธรรม มีจริยธรรมและวัฒนธรรมในการดำรงชีวิตสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข จากเหตุผลดังกล่าว จึงกล่าวได้ว่า กิจกรรมลูกเสือเป็นกิจกรรมที่เน้นให้เด็กเป็นคนที่มีศีลธรรม คุณธรรม และจริยธรรม เป็นวิชาศีลธรรม ภาคปฏิบัติที่มีความเหมาะสมแก่สังคมไทยอย่างยิ่ง
ที่มา : Sommart Sungkapun