ลอร์ด เบเดน โพเอลล์ เป็นผู้ให้กำเนิดลูกเสือโลก มีชื่อเต็มว่า โรเบิร์ต สติเฟสัน สไมธ์ เบเดน โพเอลล์ เรียกย่อๆว่า บี.พี. (B.P.) เกิดวันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2400 ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ
ลอร์ด เบเดน โพเอลล์
บิดาชื่อ เอช.จี.เบเดน โพเอลล์ เป็นศาสตราจารย์ สอนวิชาเรขาคณิต และธรรมชาติศึกษา ณ มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด มารดาชื่อ เฮนริเอทต้า เกรซ สไมธ์ เป็นธิดาของพลเรือเอก ดับบิว.ที.สไมธ์ แห่งราชนาวีอังกฤษ สมรสกับนางสาวโมลาฟ เซ็นต์แคลร์ เมื่ออายุได้ 55 ปี
ชีวิตในวัยเด็ก
เมื่อ บี.พี. อายุได้ 11-12 ปี ได้เข้าศึกษาในโรงเรียนประถมศึกษาชื่อ โรสฮิลล์ ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เข้าเรียนในโรงเรียนมัธยมชื่อชาเตอร์เฮาส์ กรุงลอนดอนได้ 2 ปี ต่อมาโรงเรียนได้ย้ายไปตั้งอยู่ในชนบท ณ เมืองโกคาลมิง ในแคว้นเซอร์เรย์ มีน้ำไหลผ่านและมีป่าใหญ่อยู่ติดบริเวณโรงเรียน เขามักใช้เวลาว่างหลบเข้าไปใช้ชีวิตและศึกษาเกี่ยวกับธรรมชาติโดยลำพัง
ชีวิตในวัยเด็ก บี.พี. ได้รับความรู้พิเศษจากพลเรือเอกสไมธ์ผู้เป็นตา เกี่ยวกับการว่ายน้ำ เล่นสเกต ขี่ม้า การวัดแดดและดูดาว นอกจากนี้เขายังชอบวาดภาพ ร้องเพลง แสดงละคร มีความสนใจในธรรมชาติศึกษา ศึกษาชีวิตสัตว์ ต้นไม้ตลอดจนความรู้เชิงพราน และในวันปิดภาคมักจะท่องเที่ยวพักแรม ไปกับพี่ชายอีก 3 คน
ปีสุดท้ายที่เรียนอยู่ในชาเตอร์เฮาส์ บี.พี. ได้ไปสมัครสอบเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดสองครั้งแต่สอบไม่ได้ ในปี พ.ศ. 2419 สอบเข้าโรงเรียนนายร้อยแซนด์เฮิสต์ ได้ที่ 5 ได้รับตั้งแต่เป็นนายร้อยตรีในกองทัพบกของอังกฤษ และถูกส่งไปประจำการที่ประเทศอินเดีย เมื่ออายุ 19 ปี
ชีวิตในการรับราชการทหาร
บี.พี.รับราชการทหารในประเทศอินเดีย ประจำกองทหารม้าอุสซาร์ที่ 13 เป็นเวลา 8 ปี โดยปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเข้มแข็ง และได้รับยศร้อยเอก เมื่ออายุ 26 ปี ในระหว่างนี้มีเหตุการณ์ที่แสดงลักษณะพิเศษหลายอย่าง เช่น
ได้รับรางวัลชนะเลิศในการแข่งขันกีฬาแทงหมูป่า ขณะอยู่บนหลังม้าโดยใช้หอกสั้น เมื่อ พ.ศ.2426 และขณะที่มียศเป็นร้อยตรี ได้รับเงินเดือนน้อยมาก เพียงปีละ 120 ปอนด์ จึงดำเนินชีวิตอย่างประหยัด คืองดสูบบุหรี่ ดื่มสุราแต่น้อย หารายได้พิเศษโดยการเขียนเรื่องและเขียนภาพลงหนังสือพิมพิ์
ชีวิตราชการทหารของท่านส่วนใหญ่อยู่ในประเทศอินเดียและแอฟริกา มีสิ่งที่ประทับใจ ที่เกี่ยวกับกิจการลูกเสือหลายครั้ง เช่น
ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2431 ได้ไปปราบชนเผ่าซูลู ซึ่งมีหัวหน้าชื่อ ดินีส ซูลู ในแอฟริกาใต้สำเร็จ จากประสบการณ์นี้ได้รับความรู้ ซึ่งต่อมาได้นำมาใช้ในกิจการลูกเสือคือ
1. บทเพลงอินกอนยามา
(หัวหน้า) อิน กอน -ยา-มา กอน-ยา-มา
(ลูกคู่) อิน-วู-ยู ยาโบห์ ยาโบห์ อิน-วู-ยู
(หัวหน้า)
(ลูกคู่)
2. สร้อยคอของดินิส ซูลู ทำด้วยไม้แกะเป็นท่อนเล็กๆ ซึ่งต่อมา บี.พี. ได้นำมาเป็นบีด เครื่องหมายวูดแบดจ์ สำหรับผู้ที่ผ่านการอบรมผู้บังคับบัญชาลูกเสือขั้นความรู้ชั้นสูง
ครั้งที่ 2 พ.ศ.2432 ที่เกาะมอลต้า บี.พี.ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยทูตทหาร ทำหน้าที่เป็นทหารสืบราชการลับ
ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2438 ทำการรบกับเผ่าอาซันติ ซึ่งมีกษัตริย์ชื่อว่า คิงเปรมเปห์ และได้รับชัยชนะเหตุการณ์ครั้งนี้ บี.พี. ได้ประสบการณ์ดังต่อไปนี้
1. การบุกเบิก เช่นการโค่นต้นไม้ การทำสะพาน การสร้างค่ายพัก
2. ทดลองการแต่งกายของตนเอง ใช้หมวกปีกแบบโคบาล จนได้รับฉายาจากพวกพื้นเมืองว่า คัมตะไค แปลว่าคนสวมหมวกปีกกว้าง
3. ประเพณีการจับมือซ้าย จากการแสดงความเป็นมิตรของคนพื้นเมือง
ครั้งที่ 4 พ.ศ. 2439 พวกมาตาบิลี ซึ่งเป็นเผ่าหนึ่งของซูลู เดิมอยู่ในทรานสวาล และถูกพวกบัวร์ขับไล่ จึงอพยพไปอยู่ในมาติบิลีแลนด์ (ปัจจุบันเรียกโรดิเซีย) พวกมาตาบิลีก่อการกบฏ รัฐบาลอังกฤษจึงสั่งทหารไปปราบ บี.พี. ได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเข้มแข็งและได้รับประสบการณ์เรื่องการสอดแนม โดยเฉพาะการปฏิบัติงานตอนกลางคืน เลยได้รับฉายาว่า ” อิมปีซ่า” แปลว่าหมาป่าไม่เคยนอนหลับ
ครั้งที่ 5 พ.ศ. 2442 เหตุการณ์ที่เมืองมาฟอีคิง หลังจากบี.พี. ได้กลับจากการปฏิบัติงานที่อินเดีย2 ปี บี.พี. ได้รับคำสั่งด่วนให้เดินทางไปแอฟริกา เพื่อหาทางป้องกันการรุกรานของพวกบัวร์(ชาวดัทซ์ที่อพยพไปอยู่ในแอฟริกาใต้) ในทรานสวาลและออเร้นจ์ทรีสเตท ซึ่งจะตั้งตนเป็นเอกราช บี.พี. ได้นำกองทหารไปรักษาเมืองมาฟอีคิง ซึ่งถูกล้อมโดยกองทหารบัวร์ไว้ได้ 217 วัน จึงมีกองทัพใหญ่ยกไปช่วยและทำให้พวกบัวร์ต้องล่าถอยไป
ในการป้องกันเมืองมาฟอีคิง บี.พี. ได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเข้มแข็ง อดทน ร่าเริง ไม่ย่อท้อ ใช้สติปัญญาหาวิธีแก้ปัญหา ทำกลอุบายลวงข้าศึกให้เข้าใจผิด คิดว่ามีกำลังทหารมากมาย และมีการป้องกันรักษาเมืองอย่างเข้มแข็ง ตลอดจนใช้เด็กอาสาสมัครที่ได้รับการอบรมแล้วปฏิบัติหน้าที่ส่งข่าว ปรากฎว่าทำงานได้ผลดี ทำให้ บี.พี. มีความประทับใจในตัวเด็กและเห็นว่า ถ้าใช้เด็กให้ถูกทางแล้ว จะเกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติอย่างมาก จึงได้ริเริ่มการลูกเสือในเวลาต่อมา จากเหตุการณืที่เมืองมาฟอีคิง ทำให้ บี.พี. ได้รับฉายาว่า “ผู้ป้องกันมาฟอีคิง”
การกำเนิดลูกเสือ
บี.พี. เดินทางกลับอังกฤษในฐานะวีรบุรุษ และได้รับเกียรติอย่างมาก เนื่องจากได้รับประสบการณ์จากเมืองมาฟอีคิง ซึ่งได้จัดให้เด็กๆ มาช่วยเหลือในการรักษาเมืองเช่น ทำหน้าที่เป็นผู้สื่อข่าวและสอดแนมของกองทัพรักษาความสงบภายใน รับใช้งานต่างๆเช่น อยู่ยามบนหอคอยให้สัญญาณแก่ประชาชนเมื่อพวกบัวร์โจมตี เด็กเหล่านี้ทำหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายอย่างเข้มแข็ง ว่องไว ได้ผลดีไม่แพ้ผู้ใหญ่ ดังนั้น บี.พี.จึงคิดตั้งขบวนการลูกเสือขึ้น
จากประสบการณ์ของท่านเมื่ออยู่ที่อินเดีย แอฟริกา อยู่กับพวกซูลูและคนพื้นเมืองเผ่าอื่นๆ ทำให้ บี.พี. ได้รับการพัฒนาความคิดมาเป็นขบวนการลูกเสืออย่างรอบคอบ โดยในปี พ.ศ. 2450 บี.พี. ได้รวบรวมเด็ก 20 คน ให้ไปอยู่ที่เกาะบราวน์ซี ในช่องแคบอังกฤษ นับเป็นการพักแรมของลูกเสือครั้งแรกของโลก
ในปีต่อมากองลูกเสือได้เริ่มก่อตั้งขึ้น อย่างจริงจังเป็นครั้งแรกในอังกฤษ และขยายตัวแพร่หลายอย่างรวดเร็ว
พ.ศ. 2451 ลอร์ด บาเดน เพาเวลล์ ได้แต่งหนังสือคู่มือการฝึกอบรมลูกเสือขึ้นมาเล่มหนึ่ง มีชื่อว่า Scouting For Boys และคำว่า “Scout” จึงใช้เป็นคำเรียกผู้ที่เป็นลูกเสือซึ่งมีความหมายมาจาก
S ย่อมาจาก Sincerity แปลว่า ความจริงใจ
C ย่อมาจาก Courtesy แปลว่า ความสุภาพอ่อนโยน
O ย่อมาจาก Obedience แปลว่า การเชื่อฟัง
U ย่อมาจาก Unity แปลว่า ความเป็นใจเดียวกัน
T ย่อมาจาก Thrifty แปลว่า ความประหยัด
ขบวนการลูกเสือได้เจริญขึ้นตามลำดับ ทำให้ บี.พี. มองเห็นการณ์ไกล ลูกเสือจะเป็นงานสำคัญในชีวิต ซึ่งจะทำประโยชน์ให้แก่บ้านเมืองได้มาก โดยการอบรมเด็กๆรุ่นหลังให้เป็นพลเมืองดีของชาติ บี.พี. จึงลาออกจากราชการทหาร ชีวิตตอนนี้จึงเรียกว่า ” ชีวิตที่สอง ” ซึ่งเป็นชีวิตที่ให้บริการแก่ลูกเสือทั่วโลก
พ.ศ. 2454 บี.พี. เดินทางรอบโลก เพื่อพบลูกเสือประเทศต่างๆ เป็นการตั้งต้นของการลูกเสือ ที่จะเสริมความเป็นพี่น้องลูกเสือทั่วโลก
พ.ศ. 2463 ลูกเสือประเทศต่างๆทั่วโลกพบกันที่กรุงลอนดอน เพื่อร่วมชุมนุมลูกเสือโลกครั้งแรก ในการชุมนุมครั้งนี้ ลูกเสือทังหลายได้พร้อมใจกันประกาศให้ บี.พี. อยู่ในตำแหน่งประมุขคณะลูกเสือโลก
เมื่อการลูกเสือมีอายุครบ 21 ปี ซึ่งเป็นการบรรลุ “นิติภาวะ” ตามกฎหมายอังกฤษและมีลูกเสือทั่วโลกถึง 2 ล้านเศษ พระเจ้ายอร์ชที่ 5 ได้พระราชทานบรรดาศักดิ์ให้ บี.พี. เป็นบารอน ต่อจากนั้นกิจการลูกเสือก็เจริญก้าวหน้าโดยไม่หยุดยั้ง และมีการชุมนุมลูกเสือโลกขึ้นอีกหลายครั้ง
เมื่อ บี.พี. มีอายุ 80 ปี กำลังเริ่มลดลง จึงกลับไปอยู่แอฟริกาอีกครั้งหนึ่งเพื่อพักผ่อนในช่วงสุดท้ายของชีวิต โดยพักอยู่ที่ประเทศเคนยา และถึงแก่กรรมที่นั่นเมื่อวันที่ 8 มกราคม พ.ศ.2484